คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9586/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสี่ เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีในวันบอกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายถึงวันที่เลิกสัญญาจ้าง โดยให้ถือว่าค่าจ้างที่จ่ายนี้เป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ว. กับพวกเป็นลูกจ้างรายวัน ทำหน้าที่เป็นพนักงานขายเครื่องดื่มประจำซุ้มในโรงเรียน ส. เฉพาะในช่วงเปิดเทอม ได้รับค่าจ้างวันละ 125บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างบอกเลิกจ้าง ว. กับพวกเมื่อวันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 15 เมษายนอันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างและจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 30 เมษายนอันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่ในช่วงวันที่ 8 เมษายนถึงวันที่ 16 พฤษภาคมเป็นช่วงปิดเทอม ว. กับพวกไม่ต้องไปทำงานและไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงปิดเทอมดังกล่าว เนื่องจากเป็นลูกจ้างรายวันจะได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้น ดังนั้น แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับ ว. และพวกจะมีผลเป็นการเลิกสัญญากันในวันที่ 30 เมษายน แต่โจทก์ให้ ว. กับพวกออกจากงานทันทีในวันบอกเลิกจ้างคือวันที่ 8 เมษายน โจทก์ก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ ว. กับพวกในช่วงดังกล่าว โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ ว. กับพวก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 3/2542

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายธวัชชัย สุนทรเจริญนนท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นกรมสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานตรวจแรงงานในสังกัดจำเลยที่ 1 โจทก์จ้างนางสาววาสิฏฐี ศรีเมือง นางวรรณดี เมืองแดง และนางกมลรัตน์ ฤทธิ์กัน เข้าทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2530 วันที่ 27 มิถุนายน 2538 และวันที่ 3 มีนาคม 2540 ตามลำดับ เรียกเงินประกันไว้คนละ 2,000 บาท ให้ค่าจ้างวันละ 125 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน นางสาววาสิฏฐีกับพวกทำงานเป็นพนักงานขายเครื่องดื่มประจำซุ้มในโรงเรียนสุราษฎร์ธานีเฉพาะในช่วงเปิดเทอม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 โจทก์โดยนายธวัชชัย กรรมการผู้มีอำนาจได้บอกเลิกจ้างนางสาววาสิฏฐีนางวรรณดี และนางกมลรัตน์ด้วยวาจา นางสาววาสิฏฐีกับพวกจึงไปยื่นคำร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 3/2542 สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินประกันให้แก่นางสาววาสิฏฐี นางวรรณดี และนางกมลรัตน์ รวมเป็นเงิน 85,950 บาท โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 3/2542 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้บอกเลิกจ้างนางสาววาสิฏฐี นางวรรณดีและนางกมลรัตน์ด้วยวาจา จึงไม่มีสิทธิยกเหตุในเรื่องที่อ้างว่านางสาววาสิฏฐีกับพวกทุจริตหรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและคืนเงินประกันให้แก่นางสาววาสิฏฐีกับพวก แต่ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเนื่องจากโจทก์บอกเลิกจ้างนางสาววาสิฏฐีกับพวกในช่วงปิดเทอม ซึ่งนางสาววาสิฏฐีกับพวกไม่ได้มาทำงานและไม่มีสิทธิรับค่าจ้าง จึงไม่มีวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างที่จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อให้มีผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าพิพากษาให้แก้ไขคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 3/2542 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2542 เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาววาสิฏฐี ศรีเมือง นางวรรณดี เมืองแดง และนางกมลรัตน์ ฤทธิ์กัน คนละ 1,950 บาท เป็นให้งดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่บุคคลทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งเดิม

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเพียงประการเดียวว่าโจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาววาสิฏฐี นางวรรณดี และนางกมลรัตน์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่บัญญัติว่า “การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” หมายความว่า เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีในวันบอกเลิกจ้างนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายจนถึงวันที่เลิกสัญญาจ้างโดยให้ถือว่าค่าจ้างที่จ่ายนี้เป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาววาสิฏฐี นางวรรณดี และนางกมลรัตน์เป็นลูกจ้างรายวัน ทำหน้าที่เป็นพนักงานขายเครื่องดื่มประจำซุ้มในโรงเรียนสุราษฎร์ธานีเฉพาะในช่วงเปิดเทอม ได้รับค่าจ้างวันละ 125 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน โจทก์บอกเลิกจ้างบุคคลทั้งสามเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 15 เมษายน 2542 อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างและจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 30 เมษายน 2542 อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่ในช่วงวันที่ 8 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม2542 เป็นช่วงปิดเทอม นางสาววาสิฏฐีกับพวกไม่ต้องมาทำงานและไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงปิดเทอมดังกล่าวเนื่องจากเป็นลูกจ้างรายวันจะได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้น ดังนั้น แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาววาสิฏฐีและพวกจะมีผลเป็นการเลิกสัญญากันในวันที่ 30 เมษายน 2542 แต่โจทก์ให้นางสาววาสิฏฐีกับพวกออกจากงานทันทีในวันบอกเลิกจ้างคือวันที่ 8 เมษายน 2542 โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่นางสาววาสิฏฐีกับพวกในช่วงดังกล่าวโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาววาสิฏฐีกับพวกที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share