คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9465/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจำนำมิได้ผูกพันผู้รับจำนำให้ต้องบังคับจำนำเฉพาะแต่ทางเดียว ผู้รับจำนำอาจใช้สิทธิบังคับผู้จำนำอย่างหนี้สามัญโดยสละบุริมสิทธิที่ผู้รับจำนำมีเหนือทรัพย์สินที่จำนำก็ย่อมทำได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ในสัญญากู้เงินกำหนดว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับการกู้ยืมเงินที่โจทก์ได้มีประกาศตามนัยแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้ ข้อสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็น การกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยจำนวน ๓๕,๗๗๘,๐๘๒.๑๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า _ _ _พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีนายไสว หอรุ่งเรือง และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินคนละ ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้นายไสว หอรุ่งเรือง นางสาวทิพย์มณี รัตนอาภา และจำเลยที่ ๒ ได้จำนำทรัพย์สินอันเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารเรียกว่า “หุ้น” ไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ หากผู้จำนำหรือลูกหนี้ผิดนัดในการชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับจำนำ และมีสิทธินำหุ้นออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นการประการแรกว่า เมื่อจำเลยทั้งสามผิดนัดหรือเมื่อราคาหุ้นที่โจทก์รับไว้มีราคาลดลงจากวันที่รับหลักทรัพย์ไว้ โจทก์มีอำนาจขายหลักทรัพย์นั้นได้ เพื่อชำระหนี้โจทก์และคืนเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยทั้งสาม แต่โจทก์ไม่ได้กระทำการดังกล่าว กลับปล่อยให้หลักทรัพย์นั้นลดลงจนมีราคาไม่พอชำระหนี้ การกระทำของโจทก์เป็นการเอาเปรียบจำเลยทั้งสาม เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โดยฟ้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ในสินเชื่ออย่างเดียวไม่กล่าวถึงหลักทรัพย์ที่รับไว้หรือไม่ เห็นว่า ลักษณะของการจำนำเป็นการเอาทรัพย์เป็นประกันการชำระหนี้ซึ่งอาจแบ่งแยกการจำนำกับหนี้ที่เอาทรัพย์เป็นประกันคนละส่วนได้ หรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่มีจำนำเป็นประกันนั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ โดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๔ หรือจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๖๔ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ เพราะการจำนำมิได้ผูกพันผู้รับจำนำให้ต้องบังคับจำนำเฉพาะแต่ทางเดียว ฉะนั้นการที่โจทก์ใช้สิทธิบังคับจำเลยทั้งสามอย่างหนี้สามัญ โดยสละบุริมสิทธิที่โจทก์มีเหนือทรัพย์สินที่จำนำก็ย่อมทำได้ นอกจากนี้แม้สัญญาจำนำ จะมีเงื่อนไขระบุไว้ในข้อ ๔ ว่า “หากผู้จำนำและหรือลูกหนี้รายใดรายหนึ่งผิดนัดในการชำระหนี้ต่อผู้รับจำนำ ผู้รับจำนำย่อมมีสิทธิบังคับจำนำ โดยบอกกล่าวให้ผู้จำนำไถ่ถอนการจำนำภายในกำหนดเวลาพอสมควรแต่ไม่เกิน ๓๐ วัน ถ้าผู้จำนำไม่ไถ่ถอนการจำนำภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าวนี้ ผู้รับจำนำมีสิทธินำหุ้นออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้…” ก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนำได้เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนำ หนี้ตามสัญญากู้เงินและค้ำประกันซึ่งจำเลยทั้งสามทำไว้กับโจทก์ก็ยังคงมีอยู่ โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องบังคับตามสัญญากู้เงินและค้ำประกันนั้นได้ โดยไม่ต้องบังคับจำนำ กรณีดังกล่าวหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเอาเปรียบจำเลยทั้งสามอย่างไม่เป็นธรรม ดังฎีกากล่าวอ้างของจำเลยทั้งสามไม่ ฎีกาจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาประการที่สองว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สูงเกินสมควร โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้ดอกเบี้ยถึงอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในสัญญากู้เงิน กำหนดว่า หากจำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง จำเลยที่ ๑ ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับการกู้ยืมเงินที่โจทก์ได้มีประกาศตามนัยแห่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้ ข้อสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๐ โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๖ ต่อปี แต่นับจากวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๐ อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสามผิดนัด จนถึงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดร้อยละ ๒๕ ต่อปี และนับแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ จนถึงวันฟ้องโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดร้อยละ ๓๕ ต่อปี เหตุนี้ศาลชั้นต้นจึงเห็นว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะของเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดลงเหลือเพียงอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ซึ่งไม่สูงเกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับการกู้ยืมเงินตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้นับตั้งแต่วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป และศาลอุทธรณ์เห็นชอบด้วยนั้น นับว่าเป็นการกำหนดเบี้ยปรับที่พอสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีและชอบด้วยกฎหมายทุกประการแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share