คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งทำปลอมขึ้นโดยระบุให้จำเลยผู้เดียวมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทลงชื่อผูกพันบริษัทเป็นหลักฐานเพื่อระงับสิทธิของโจทก์ร่วม ในการร่วมลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)
คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท เป็นเพียงเอกสารที่แจ้งความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขให้ตามรายการที่ขอและหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารที่บุคคลหนึ่งระบุมอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งมีอำนาจทำกิจการใดแทนตนเท่านั้น เอกสารทั้งสองฉบับมิใช่หลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงมิใช่เอกสารสิทธิ
จำเลยยื่นเอกสารปลอม 3 ฉบับ ประกอบกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขจำนวนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ปัญหาการปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่น ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และนางสาวอนงค์ คงเผ่าพงษ์ ผู้เสียหายเป็นกรรมการของบริษัทเค.ที.บิสเน็ซ เซ็นเตอร์ ไลน์ จำกัด มีจำเลยที่ 1และผู้เสียหายลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทลงชื่อผูกพันบริษัทได้ จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 3 คน ที่หลบหนีได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2536เวลากลางวัน ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2536 เวลากลางวันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันปลอมสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2536 ของบริษัทเค.ที. บิสเน็ซ เซ็นเตอร์ ไลน์ จำกัดซึ่งเป็นเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับว่า ที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ กำหนดจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งจะลงชื่อผูกพันบริษัทได้ คือ นายกิตติ สุภิมล(จำเลยที่ 1) ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ความจริงแล้วไม่มีการประชุมและไม่มีรายงานการประชุม ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2536 ขึ้นทั้งฉบับว่า บริษัทเค.ที.บิสเน็ซ เซ็นเตอร์ ไลน์ จำกัดมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มายื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร และร่วมกันปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้มอบอำนาจ ซึ่งเป็นความเท็จเพราะความจริงแล้วผู้เสียหายมิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันปลอมคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 โดยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหาย ลงในช่องผู้ขอจดทะเบียนกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัทซึ่งเป็นความเท็จเพราะความจริงแล้วผู้เสียหายมิได้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนดังกล่าวอันเป็นหลักฐานก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการ และเมื่อระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2536 เวลากลางวันถึงวันที่ 9 มีนาคม 2536 เวลากลางวัน วันใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันนำเอกสารปลอม คือ สำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 หนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์2536 และคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 ไปใช้และอ้างแสดงต่อนางสาวอุษาน้าวานิช เจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนและบริษัท และต่อนายบรรจง ฤกษ์ปิยะทรัพย์ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนและนายทะเบียนหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงจึงได้จดทะเบียนแก้ไขอำนาจกรรมการเป็นให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้เพียงคนเดียว การกระทำของจำเลยกับพวกในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย นางสาวอุษา น้าวานิช และนายบรรจง ฤกษ์ปิยะทรัพย์ พนักงานเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้าและประชาชนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 264, 265, 268 และริบเอกสารปลอมของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาวอนงค์ คงเผ่าพงษ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ตามอัตราโทษในมาตรา 265(ที่ถูกมาตรา 83, 265, 268 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง) ลงโทษจำคุกคนละ2 ปี ริบเอกสารปลอมของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 (ที่ถูกมาตรา 83, 268 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 265) แต่เพียงกระทงเดียว จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาทโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าบริษัทเค.ที.บิสเน็ซ เซ็นเตอร์ ไลน์ จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 โดยทุนจดทะเบียนกำหนดไว้เป็นเงินจำนวนหนึ่งล้านบาท กรรมการของบริษัทคือโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทลงชื่อผูกพันบริษัทได้ ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารหมาย จ.1 เมื่อเดือนมีนาคม 2536 จำเลยที่ 2 ดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขจำนวนกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 1 ผู้เดียวลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทลงชื่อผูกพันบริษัทได้โดยมีเอกสารประกอบคือสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 ซึ่งที่ประชุมลงมติกำหนดอำนาจของกรรมการใหม่ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทลงชื่อผูกพันบริษัทได้ตามเอกสารหมาย จ.5คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทที่มีลายมือชื่อของโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.7 และหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีลายมือชื่อของโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.8 นางสาวอุษา น้าวานิช เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนและออกหนังสือห้างหุ้นส่วนและบริษัทดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอ สำหรับข้อหาฐานปลอมเอกสารข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยคู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า สำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.5 คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทเอกสารหมาย จ.7 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.8 เป็นเอกสารปลอม แต่พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานปลอมเอกสาร ส่วนในข้อหาฐานใช้เอกสารปลอม ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ว่า การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขจำนวนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทโดยรู้อยู่แล้วว่าสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.5 คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทเอกสารหมาย จ.7 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.8 ที่ใช้ประกอบการขอจดทะเบียนเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารสิทธิปลอมตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 เบิกความเจือสมพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมกันตั้งบริษัทและเปิดดำเนินกิจการ โดยการจัดการบริษัทโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของบริษัทแล้วโจทก์ร่วมซึ่งมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 1มีภริยาอยู่ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 1 นำภริยามาทำงานในบริษัทด้วยเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 บาดหมางกันอย่างรุนแรงจนโจทก์ร่วมไม่มาทำงานที่บริษัทอีก และในที่สุดโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต้องไปลงบันทึกรายงานประจำวันที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวเป็นหลักฐานว่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 จะไม่เกี่ยวข้องกันอีก จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 1 เพื่อขอเปิดบัญชีธนาคารในนามของบริษัท โจทก์ร่วมก็ไม่ให้ความร่วมมือและการที่โจทก์ร่วมไม่มาทำงานในฐานะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าทำให้บริษัทประสบปัญหา เช่น ไม่สามารถเบิกเงินได้ ไม่สามารถดำเนินการเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มได้ จำเลยที่ 1 จึงปรึกษานายนพดล ไวยกูล พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทและถือหุ้นในบริษัท1 หุ้น ให้นายนพดลดำเนินการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการแต่นายนพดลดำเนินการให้ไม่ได้เพราะโจทก์ร่วมไม่ยินยอม จำเลยที่ 1ย่อมทราบดีก่อนที่จะมอบหมายให้บริษัทซี.พี.เอ. จำกัด ดำเนินการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการแล้วว่า โจทก์ร่วมไม่ยินยอมพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุมและลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องในสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536ซึ่งระบุว่าที่ประชุมลงมติกำหนดอำนาจกรรมการใหม่ ให้จำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทลงชื่อผูกพันบริษัทได้ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่มีการประชุมกันจริงและจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งผูกพันบริษัทตามเอกสารหมาย จ.7 กับหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.8 ว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่าเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ขณะลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ยังไม่มีการกรอกข้อความก็ดี ก่อนลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1ทักท้วงแล้วว่าไม่ได้ประชุมกันจริง แต่นายนพรัตน์ คำภู ผู้จัดการบริษัทซี.พี.เอ. จำกัด บอกว่าเป็นเพียงเอกสารประกอบการจดทะเบียนนั้นไม่มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่าเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ยังมอบหมายให้จำเลยที่ 2นำไปแสดงต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร จนพนักงานเจ้าหน้าที่หลงเชื่อและดำเนินการจดทะเบียนให้ จำเลยที่ 1ย่อมมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองที่ใช้เอกสารปลอมทั้งสามฉบับดังกล่าวในข้อหาฐานปลอมเอกสารสิทธินั้น เห็นว่า เฉพาะสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 เอกสารหมาย จ.5 ซึ่งทำปลอมขึ้นให้จำเลยที่ 1ผู้เดียวมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทลงชื่อผูกพันบริษัทเป็นหลักฐานเพื่อระงับสิทธิของโจทก์ร่วมในการร่วมลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทจึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)ส่วนคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นเพียงเอกสารที่แจ้งความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขให้ตามรายการที่ขอและหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นเอกสารที่บุคคลหนึ่งระบุมอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งมีอำนาจทำกิจการใดแทนตนเท่านั้นเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 มิใช่หลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิจึงมิใช่เอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 264 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองร่วมกันยื่นเอกสารปลอมทั้งสามฉบับดังกล่าวประกอบกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขจำนวนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาการปรับบทลงโทษดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

อนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาไม่สามารถรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานปลอมเอกสารอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานปลอมเอกสาร ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 265, 264 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ข้อหาฐานปลอมเอกสารสำหรับจำเลยทั้งสองให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share