คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8606/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้าง และบอกเลิกสัญญากับโจทก์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกร้องเพื่อเข้าดำเนินการก่อสร้างต่อไป จึงถือว่าโจทก์และจำเลยเจตนาเลิกสัญญากัน โดยปริยาย คู่สัญญาจึงต่างกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม สำหรับการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับการชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวก็ต้องตกอยู่ในอายุความสองปี ตามมาตรา 193/34 (17) นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างและบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ และโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่นั้น ตามมาตรา 193/12 นับถึงวันที่ 11 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นเวลากว่าสองปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ กรณีหาใช่สิทธิเรียกร้องของโจทก์เพิ่งจะเกิดขึ้นนับแต่วันที่ครบกำหนด 7 วัน นับแต่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 มีนาคม 2540 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 786,115.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 683,579 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 492,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอู่ซ่อมรถยนต์ลงบนที่ดินของจำเลย ตกลงค่าจ้าง 1,100,000 บาท แบ่งชำระตามผลงานรวม 5 งวด กำหนดแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2539 หากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา และผู้ว่าจ้างยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างวันละ 3,000 บาท นับจากวันที่ครบกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ หรือวันที่ผู้ว่าจ้างขยายให้จนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จจริง โจทก์ทำงานก่อสร้างพ้นกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 ก็ได้หยุดงานก่อสร้างแล้วทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดงานที่ 4 และงวดงานที่ 5 ที่ค้างชำระ กับค่าจ้างงานก่อสร้างเพิ่มเติมรวม 683,579 บาท แต่จำเลยปฏิเสธไม่ชำระให้โดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาละทิ้งงานก่อสร้าง จึงบอกเลิกสัญญา และเรียกให้โจทก์ชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นเงิน 492,000บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า นายธีรพล กรรมการผู้จัดการโจทก์เบิกความว่า หลังจากทำสัญญาแล้ว โจทก์ได้ลงมือทำการก่อสร้างทันทีและจำเลยได้ชำระหนี้ค่าก่อสร้างให้โจทก์รวม 4 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 17 มิถุนายน 2539 จำนวน 165,000 บาท ครั้งที่ 2 วันที่ 2 สิงหาคม 2539 จำนวน 234,800 บาท ครั้งที่ 3 วันที่ 21 มกราคม 2540 จำนวน 275,000 บาท และครั้งที่ 4 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 95,000 บาท ตามหลักฐานใบรับเงิน ซึ่งเป็นการขอรับเงินค่างวดงานตามสัญญางวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 โดยเฉพาะงวดที่ 4 โจทก์ขอเบิกเงินค่างวดงานตามสัญญาจำนวน 220,000 บาท แต่จำเลยจ่ายให้เพียง 95,000 บาท ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด กลับปรากฏว่าโจทก์ลงชื่อรับเงินไว้ท้ายหนังสือดังกล่าว และเบิกความว่า เหตุที่โจทก์ก่อสร้างงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเนื่องจากตั้งแต่งวดงานที่ 2 เป็นต้นไปจำเลยได้ให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาทำให้งานล่าช้า ส่วนจำเลยเบิกความในส่วนนี้ว่า ที่ยอมให้โจทก์เบิกเงินค่างวดงานที่ 3 เนื่องจากโจทก์ขอร้องเพราะขาดเงินทุนหรือสภาพคล่องโดยจำเลยได้ทักท้วงว่างานล่าช้าแล้ว ต่อมาโจทก์ยังมาขอเบิกเงินค่างวดงานที่ 4 อีก จำเลยเห็นว่างานงวดที่ 4 โจทก์เพียงแต่เกลี่ยดิน และขุดหลุมเพื่อจะวางหรือตั้งเสาเท่านั้น จำเลยเห็นว่างานล่าช้าและไม่แล้วเสร็จตามสัญญาแน่ จึงไม่ยอมให้โจทก์เบิกเงินค่างวดงานที่ 4 แต่ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้สำรองเงินจ่ายให้โจทก์จำนวน 95,000 บาท ซึ่งเป็นหนังสือที่โจทก์ขอเบิกค่างวดงานงวดที่ 4 และจำเลยได้เบิกความต่อไปอีกว่า นับถัดจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2540 ไปแล้ว โจทก์ไม่กลับมาทำงานก่อสร้างต่อไปอีก ซึ่งฟังสอดคล้องกับที่นายวันชัย น้องชายจำเลยที่จำเลยมอบหมายให้ดูแลงานก่อสร้างเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ 95,000 บาท ราววันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2540 แล้ว โจทก์ก็เก็บข้าวของและขนย้ายคนงานออกไปหมด พยานจึงแจ้งให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 ต่อมาวันที่ 11 ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจึงแจ้งโจทก์ให้ระงับการก่อสร้างและขอเลิกสัญญากับโจทก์ แล้วไปว่าจ้างนายวุฒิชัย ผู้รับเหมารายใหม่มาทำการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงฟังได้ว่า หลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2540 ที่จำเลยจ่ายเงินค่างวดงานที่ 4 ให้โจทก์บางส่วนจำนวน 95,000 บาท แล้ว โจทก์ได้ละทิ้งงานก่อสร้าง จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างและบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ ซึ่งตรงกับที่จำเลยแจ้งไว้ในหนังสือทวงถาม ที่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระค่าปรับตามสัญญาว่าจำเลยจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 และตรงตามหนังสือทวงถามที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระค่างวดงานที่ 4 และงวดงานที่ 5 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้สั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้าง และบอกเลิกสัญญากับโจทก์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกร้องเพื่อเข้าดำเนินการก่อสร้างต่อไป จึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยเจตนาเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาจึงต่างกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม สำหรับการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับการชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวก็ต้องตกอยู่ในอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (17) นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างและบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ และโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่นั้น ตามมาตรา 193/12 นับถึงวันที่ 11 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นเวลากว่าสองปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ กรณีหาใช่สิทธิเรียกร้องของโจทก์เพิ่งจะเกิดขึ้นนับแต่วันที่ครบกำหนด 7 วัน นับแต่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 มีนาคม 2540 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากขาดอายุความ 2 ปี นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระค่าปรับรายวันตามสัญญาวันละ 3,000 บาท หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ ตกลงว่าโจทก์จะทำงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายในวันที่ 1 กันยายน 2539 แต่หลังจากทำสัญญาแล้ว จนล่วงเลยวันครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในสัญญา งานก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านและสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องค่าปรับรายวันตามสัญญากับโจทก์แต่อย่างใด อีกทั้งยังปรากฏว่าภายหลังครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยยังได้จ่ายค่างวดงานให้โจทก์อีก 4 ครั้ง ดังที่วินิจฉัยมาเบื้องต้นแล้ว โดยครั้งหลังสุดจำเลยจ่ายค่างวดงานที่ 4 ให้โจทก์บางส่วนอีกจำนวน 95,000 บาท เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2540 ก่อนที่จะสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างและบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้สงวนสิทธิที่จะเรียกร้องค่าปรับรายวันตามสัญญาจากโจทก์แต่อย่างใดเช่นกัน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยไม่ได้ถือเอากำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และค่าปรับรายวันที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเป็นสาระสำคัญ ส่วนการที่จำเลยไม่ยอมลงนามในหนังสือที่โจทก์แจ้งขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยได้สงวนสิทธิที่จะเรียกร้องค่าปรับรายวันตามสัญญาจากโจทก์แล้วแต่อย่างใด จำเลยจะมาเรียกร้องค่าปรับจากโจทก์ภายหลังที่ได้บอกเลิกสัญญาและโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างชำระแล้วไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ

Share