คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8604/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในสัญญาซื้อขายที่ดิน น.ส.3 ฉบับพิพาทแสดงให้เห็นว่าเป็นการแบ่งขาย มิใช่ขายทั้งแปลง และมิได้ระบุว่าแบ่งขายเนื้อที่เท่าใด ไม่ปรากฏว่าที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันราคาไร่ละเท่าใด ไม่สามารถคำนวณเป็นเนื้อที่ได้ว่า ตกลงขายเนื้อที่เท่าใด คู่สัญญามิได้ตกลงส่งมอบที่ดินพิพาทกันในวันทำสัญญา แต่จะส่งมอบกันหลังจากทำสัญญาแล้ว 5 เดือนเศษ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังมิได้โอนไปยังผู้จะซื้อตามสัญญาดังกล่าว
จำเลยมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ยเงินกู้ยืม โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะครอบครองแทนจำเลยสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของจำเลยอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 192 ตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากการเป็นเจ้าของที่ดินและใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของแทน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 192 ตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ถึงแก่กรรม นางคำเซี่ยนหรือเซี่ยน นันตะมาตร์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ยจริงหรือไม่ และสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเคยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 10,500 บาท ต่อมาจำเลยจะไปอยู่กับบุตรสาวที่กรุงเทพมหานคร โจทก์กลัวจะไม่ได้เงินคืนจึงให้จำเลยทำสัญญาซื้อขายไว้ เมื่อศาลฎีกาตรวจพิเคราะห์หนังสือสัญญาซื้อขายแล้ว ปรากฏว่า วันที่ทำสัญญาคือวันที่ 28 กันยายน 2527 จำเลยเป็นผู้ขาย โจทก์เป็นผู้ซื้อ ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า ผู้ขายได้แบ่งขายที่ดินแปลง น.ส. 3 หมายเลขที่ดิน 126 เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท … และยอมมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อวันที่ 1 มีนาคม 2528 และผู้ขายได้รับราคาดังกล่าวไปจากผู้ซื้อเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2527 ตามข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เป็นการแบ่งขาย มิใช่ขายทั้งแปลง และมิได้ระบุว่าแบ่งขายเนื้อที่เท่าใด ระบุแต่เพียงว่าแบ่งขายจำนวน 40,000 บาท ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันราคาไร่ละเท่าใด จึงไม่สามารถคำนวณเป็นเนื้อที่ได้ว่าตกลงขายเนื้อที่เท่าใด ในตอนต่อมาของสัญญาได้ระบุว่า จะมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อวันที่ 1 มีนาคม 2528 จึงเห็นได้ว่า วันทำสัญญาคือวันที่ 28 กันยายน 2527 และสัญญาระบุว่าผู้ขายได้รับราคาไปจากผู้ซื้อแล้วในวันที่ 28 กันยายน 2527 แต่จะมอบทรัพย์สินกันในวันที่ 1 มีนาคม 2528 ดังนี้แสดงว่า คู่สัญญามิได้ตกลงส่งมอบที่ดินพิพาทกันในวันทำสัญญา แต่จะส่งมอบกันหลังจากทำสัญญาแล้ว 5 เดือนเศษ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังมิได้โอนไปยังโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท นอกจากนี้ยังได้ความจากนายดี แดนคำสาร พยานโจทก์ซึ่งเป็นกำนันตำบลเหล่าและเป็นผู้เขียนสัญญาเบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ได้จ่ายเงินแก่จำเลยแต่ไม่ใช่ 50,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่า แบ่งขายที่ดินไม่ใช่ขายทั้งแปลง เนื่องจากจำเลยขอไว้ และเบิกความต่อไปว่า ตามสัญญาระบุว่าจะมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อในวันที่ 1 มีนาคม 2528 นอกจากพยานหลักฐานดังกล่าว ยังปรากฏในสารบัญจดทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ว่า หลังจากทำหนังสือสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2527 แล้ว ในวันที่ 6 สิงหาคม 2533 จำเลยยังได้ไปจดทะเบียนไถ่ที่ดินพิพาทซึ่งขายฝากจากนายพิชัย วัฒนกิติกุล และในวันที่ 29 สิงหาคม 2533 จำเลยได้จำนองที่ดินพิพาทแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2537 จำเลยได้ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงไทย จำกัด อีกด้วย และจำเลยยังมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทในปี 2533 และ 2534 มาแสดงว่าจำเลยยังมิได้ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ดังที่โจทก์นำสืบ พยานหลักฐานจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยังมิได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ยเงินกู้ยืม โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะครอบครองแทนจำเลย ดังนั้น สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของจำเลยอยู่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share