คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6243/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแขวง ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),157ซึ่งเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกันกับการกระทำผิดที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และศาลแขวงได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำฟ้องแล้วถือได้ว่ามีคำพิพากษาวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในกรรมที่ได้ก่อให้เกิดความผิดนั้นแล้ว มิใช่หมายถึงฐานความผิดสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยขับรถยนต์รับจ้างส่งผู้โดยสาร (รถแท็กซี่) หมายเลขทะเบียน 1 ม – 1517 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนวิภาวดีรังสิตขาออกมุ่งหน้าไปทางท่าอากาศยานกรุงเทพมีโจทก์เป็นผู้โดยสารนั่งอยู่เบาะด้านหลัง เมื่อถึงบริเวณตรงข้ามท่าอากาศยานกรุงเทพ จำเลยขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงและเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวามือ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อจำเลยเห็นว่ามีรถแล่นมาในระยะกระชั้นชิดจึงบังคับรถให้มาอยู่ในช่องทางเดิมซึ่งมีเสาตอม่อขนาดใหญ่ขวางอยู่ เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับชนกับเสาตอม่อศีรษะและลำตัวของโจทก์กระแทกกับห้องโดยสารภายในรถได้รับบาดเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้วแต่พนักงานสอบสวนสรุปเรื่องส่งพนักงานอัยการฟ้องจำเลยในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยขับรถยนต์รับจ้างส่วนบุคคลด้วยความประมาทชนเสาตอม่อซึ่งกำลังก่อสร้างกลางถนนบริเวณตรงข้ามท่าอากาศยานกรุงเทพเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งโดยสารมากับรถของจำเลยได้รับอันตรายสาหัส โจทก์แจ้งความร้องทุกข์แล้วต่อมาพนักงานอัยการประจำศาลแขวงพระนครเหนือ สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157 ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุด ตามเอกสารหมาย จ.18 โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จำเลยถูกพนักงานอัยการประจำศาลแขวงพระนครเหนือฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157ซึ่งการกระทำของจำเลยตามที่ถูกฟ้องดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกันกับการกระทำผิดที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์แล้ว ถือได้ว่ามีการพิพากษาคำฟ้องของโจทก์(พนักงานอัยการ) และมีคำพิพากษาวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในกรรมที่ได้ก่อให้เกิดความผิดนั้น มิใช่หมายถึงฐานความผิดดังความเข้าใจของโจทก์ เมื่อจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงระงับไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share