แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งนั้น ศาลต้องลดอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำจากโทษที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดที่จำเลยกระทำลงกึ่งหนึ่ง แล้วจึงกำหนดโทษจำเลยในระวางโทษที่ลดแล้วนั้น จะกำหนดโทษจำเลยก่อน แล้วลดมาตราส่วนโทษลงย่อมไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยจำคุก 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 ปี แม้ไม่ถูกต้อง แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 12 ปี โดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ ย่อมเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 340, 340 ตรี และริบรถจักรยานยนต์ 2 คัน ที่ใช้ในการกระทำความผิดและอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83, 340 ตรี ลงโทษจำคุก 18 ปี ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุกว่า 17 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุก 9 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว จำคุก 12 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 9 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลย จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนายมณฑลเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกัน ขณะที่ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์มาถึงที่เกิดเหตุซึ่งมีแสงสว่างจากไฟฟ้าข้างถนนสามารถมองเห็นกันได้ชัดเจน นายอดิศักดิ์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์โดยมีนายภัทราวุธและจำเลยนั่งซ้อนท้ายได้ขับรถปาดหน้าและขวางทางหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้ ผู้เสียหายจึงต้องหยุดรถ เมื่อผู้เสียหายหยุดรถแล้วจำเลยกับนายภัทราวุธได้ลงจากรถจักรยานยนต์ตรงเข้าชกต่อยผู้เสียหาย ทันใดนั้นนายประเสริฐก็ขับรถจักรยานยนต์มาถึงแล้วจอดขวางท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้ นายประเสริฐลงจากรถจักรยานยนต์ตรงเข้าถีบผู้เสียหายตกจากรถ จากนั้นนายประเสริฐขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไป โดยนายอดิศักดิ์ร้องขู่ผู้เสียหายไม่ให้ติดตามมิฉะนั้นจะใช้ปืนยิง นอกจากนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกทรงพล พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่าผู้หญิง 2 คน ที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายประเสริฐมาในที่เกิดเหตุนั้นคือ นางสาววาสนา กับนางสาวสุภัชชา พยานได้สอบคำให้การของทั้งสองไว้ เห็นว่า โจทก์มีทั้งผู้เสียหายและนายมณฑลซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาด้วยในขณะเกิดเหตุเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยร่วมกับนายภัทราวุธ นายอดิศักดิ์และนายประเสริฐทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแล้วเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายและนายมณฑลไม่รู้จัก และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานทั้งสองจะเบิกความกลั่นแกล้งให้ร้ายจำเลยให้ต้องรับโทษ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวนางสาววาสนา และนางสาวสุภัชชา ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายประเสริฐมาด้วยในขณะเกิดเหตุมาเบิกความเป็นพยานก็ตาม แต่โจทก์ก็อ้างคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาววาสนาและนางสาวสุภัชชาเป็นพยาน ซึ่งโจทก์มีร้อยตำรวจเอกทรงพล พนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำพยานทั้งสองมาเบิกความยืนยันประกอบคำให้การของคนทั้งสอง โดยนางสาววาสนาและนางสาวสุภัชชาให้การยืนยันตรงกันว่าเห็นจำเลยร่วมชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายในขณะเกิดเหตุด้วย นางสาววาสนาและนางสาวสุภัชชาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนโดยเฉพาะได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุนั่นเอง ไม่มีเหตุผลอย่างใดที่คนทั้งสองจะปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อที่จะปรักปรำจำเลย เชื่อว่านางสาววาสนาและนางสาวสุภัชชาให้การในชั้นสอบสวนไปตามความจริง จริงอยู่คำให้การชั้นสอบสวนของทั้งสองเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังเสียเลย การที่จะรับฟังพยานบอกเล่าได้หรือไม่เพียงใดนั้นย่อมสุดแล้วแต่เหตุผลเป็นเรื่อง ๆ ไป คำให้การชั้นสอบสวนของทั้งสองจึงรับฟังได้ในฐานะพยานประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เมื่อฟังจากคำเบิกความของผู้เสียหายและนายมณฑลประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาววาสนาและนางสาวสุภัชชา ทั้งพิเคราะห์จากคำเบิกความของจำเลยที่ว่าในขณะที่จำเลยไปเที่ยวกับนายอดิศักดิ์ นายภัทราวุธ และนายประเสริฐ ก่อนเกิดเหตุจำเลยและพวกไม่มีการตระเตรียมการหรือพูดว่าจะชิงทรัพย์ของผู้เสียหายมาก่อน แต่จากบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ได้ให้การในวันเกิดเหตุหลังจากการถูกจับกุมทันที ได้ความว่าก่อนลงมือกระทำความผิดนายอดิศักดิ์ได้บอกกับจำเลยและพวกว่าจะตามไปปล้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อนำไปขาย พฤติการณ์ที่จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายอดิศักดิ์ขับติดตามรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกมาจากร้านอาหาร โดยมีนายประเสริฐขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุนายอดิศักดิ์ขับรถปาดหน้าบังคับให้ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์ และทันใดนั้นนายประเสริฐก็ขับรถจักรยานยนต์เข้าปิดสกัดไว้ด้านหลังรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จากนั้นได้ลงจากรถจักรยานยนต์มารุมชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและนายมณฑลผู้ที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมา แล้วเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปและหลังเกิดเหตุจำเลยกับนายภัทราวุธก็ยังคงนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายอดิศักดิ์หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุไป เช่นนี้ การที่จำเลยนำสืบต่อสู้ในทำนองว่าก่อนเกิดเหตุไม่รู้ว่านายอดิศักดิ์กับนายประเสริฐจะร่วมกันปล้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาก่อน แตกต่างจากที่จำเลยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยได้ร้องห้ามไม่ให้นายอดิศักดิ์ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเพื่อปล้นเอารถจักรยานยนต์ ก็เป็นการที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นอย่างลอย ๆ ขัดต่อพฤติการณ์ของจำเลยที่กระทำทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกกระทำการปล้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจริงตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ขณะกระทำผิดจำเลยอายุกว่า 17 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี ศาลชั้นต้นลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว คงจำคุก 9 ปี แต่ที่ศาลชั้นต้นลดมาตราส่วนโทษโดยกำหนดโทษจำเลยก่อนแล้วจึงลดจากโทษที่กำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกแล้วต้องลดอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำลงกึ่งหนึ่งจากโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำแล้วจึงลงโทษในระวางโทษนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขในส่วนนี้ แต่เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วลงโทษจำคุกจำเลย 12 ปี จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษอันเป็นผลร้ายแก่จำเลยโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว จำคุก 9 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 6 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6