แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีก่อนโจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อศาลในคดีก่อนวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 55.41 ไร่ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว เพราะโจทก์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาคดีนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ว่า กระทำละเมิดบุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหาย จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ส่วนที่ดินที่โจทก์ครอบครองเพิ่มเติมอีกด้านละ 12 ไร่ และ 14 ไร่ รวมเป็น 26 ไร่นั้น ก็ปรากฏว่าเป็นการครอบครองภายในอาณาเขตที่ดินที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยว่า เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อการเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ของจำเลยทั้งสองซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับบริวารออกไปจากที่ดินของโจกท์ ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 76,274,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 2,350,800 บาท รวมเป็นเงิน 78,624,900 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 76,274,100 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติ พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีอาญาในข้อหาบุกรุกเข้าไปครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขัดขวางและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวบุกรุกเข้าไปครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นเนื้อที่ 55.41 ไร่ โดยไม่มีสิทธิครอบครองและโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากกระทำความผิดแล้ว โจทก์ขัดขวางและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1228/2536 ของศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินที่ใช้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ เป็นที่ดินขององค์การเหมืองแร่ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) ที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่โจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิครอบครอง การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิด ส่วนที่ขอให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินเป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไปพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสาม จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้โจทก์และบริวารออกจากพื้นที่ตามฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินพิพาทมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์มีสิทธิครอบครองด้วยเหตุที่ได้ซื้อและครอบครองต่อจากผู้มีสิทธิครอบครองเดิม เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งในที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งสืบสิทธิต่อเนื่องมาจากกรมทรัพยากรธรณีและกรมโลหะกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 จึงเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 และไม่เคยมีการเพิกถอนสภาพที่ดินแต่ประการใด การเข้าครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งรวมทั้งสิทธิของผู้บุกรุกเดิมที่โจทก์รับช่วงต่อมาและเข้าครอบครองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นระยะเวลาหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 บังคับใช้นั้น ล้วนแต่เป็นการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะยันรัฐได้ดังที่อ้าง… พิพากษายืน”
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญา มีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า แม้พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีอาญาในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้หรือไม่ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ดินพิพาท (เนื้อที่ 55.41 ไร่) เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาแล้ว เพราะโจทก์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงมีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ด้วย ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ส่วนที่ดินที่โจทก์ครอบครองเพิ่มเติมอีกด้านละ 12 ไร่ และ 14 ไร่ รวมเป็น 26 ไร่ นั้น ก็ปรากฏว่าเป็นการครอบครองภายในอาณาเขตที่ดินที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดีว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อปรากฏว่าการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1228/2536 ของศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ