แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องรบกวนการครอบครองที่ดินมือเปล่าและจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของจำเลย เมื่ออ่านฟ้องรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีแพ่งดังกล่าวมีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย เมื่อจำเลยเบิกความเท็จว่าจำเลยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดี เพราะอาจทำให้ศาลเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ฟ้องโจทก์จึงมีรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานสาบานตนเข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1625/2547 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องรบกวนการครอบครองที่ดินมือเปล่า โดยจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีในคดีแพ่งว่าที่ดินที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นของจำเลยทั้งแปลง ซึ่งจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งดังกล่าวต่อศาลว่า “ที่ดินพิพาทในคดีนั้นเนื้อที่ 20 กว่าไร่…ที่ดินพิพาทนั้นมีต้นยางพาราขึ้นเต็มทั้งแปลง…ในที่ดินพิพาทนั้นข้าฯ ได้ปลูกยางพาราพันธุ์พื้นเมืองไว้…ข้าฯได้นำปุ๋ยไปใส่ให้บ้างในช่วงที่ต้นยางพาราขนาดเล็ก…” ซึ่งความจริงในที่ดินแปลงพิพาทยังไม่มีการทำประโยชน์ปลูกต้นยางพารา ข้อความอันเป็นเท็จที่จำเลยเบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีแพ่งดังกล่าว แม้มิได้บรรยายรายละเอียดว่าคดีที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จนั้น มีข้อหาหรือประเด็นข้อพิพาทอย่างไร และประเด็นที่สำคัญของคดีมีว่าอย่างไรก็ตาม แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องรบกวนการครอบครองที่ดินและจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของจำเลย เมื่ออ่านฟ้องรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีแพ่งดังกล่าวมีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย เมื่อจำเลยเบิกความว่าจำเลยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดี เพราะอาจทำให้ศาลเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ฟ้องโจทก์จึงมีรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน