คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่มีอำนาจอ้างบทกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับในขณะยึดทรัพย์ว่าเงินสดจำนวน 1,192,727 บาท และรถยนต์กับรถจักรยานยนต์ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนได้
การยึดสิ่งของไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐาน นั้น ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม บัญญัติว่า สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น เงินจำนวน 83,000 บาท แม้จะยึดจากโจทก์ก็อาจใช้เป็นพยานหลักฐานสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นได้ เมื่อมาตรา 85 วรรคสาม ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องคืนให้แก่ผู้ต้องหาคนที่ถูกยึดมาเมื่อคดีสำหรับผู้ต้องหาคนดังกล่าวถึงที่สุด จึงต้องตีความว่าคดีถึงที่สุดทั้งคดี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ซึ่งเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และเมื่อการยึดเงินดังกล่าวเป็นการยึดไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานจึงเป็นการยึดไว้เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยประการอื่น กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1327 โจทก์จึงต้องฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คือต้องฟ้องภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,517.184.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,559,727 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน1,275,727 บาท รถยนต์หมายเลขทะเบียน บ – 0039 อุบลราชธานี และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ฆ – 4109 อุบลราชธานี แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 83,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 ตุลาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,192,727 บาท นับถัดจากวันศาลพิพากษาคดีนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้นหากมีการขายทอดตลาดและเก็บรักษาเงินไว้แทนเป็นจำนวนเท่าใด ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันศาลพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้คืนเงินจำนวน1,275,727 บาท พร้อมดอกเบี้ยกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาพิพากษาว่าเงินสดสองจำนวนรวมเป็นเงิน 1,275,727 บาทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดดังกล่าว โจทก์ฟ้องเรียกคืนโดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้นกับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”เช่นนี้ ผู้ที่มีอำนาจอ้างบทกฎหมายดังกล่าวฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเงินสดจำนวน 1,275,727 บาท รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดดังกล่าว ปรากฏว่าในการยึดทรัพย์จากโจทก์นั้น มีการยึด 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกยึดเงินสดจำนวน 1,192,727 บาท รถยนต์และจักรยานยนต์ ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 2 ซึ่งตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แผ่นที่ 1 ปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าเป็น “บัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืน” อันมีความหมายว่าเป็นทรัพย์ที่ได้ไปจากการกระทำความผิดแล้วได้คืน ส่วนในการยึดครั้งที่สองนั้น คือ ยึดเงินสดจำนวน 83,000 บาท พร้อมสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากธนาคาร 3 ฉบับ และบัญชีการชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดิน 1 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 5 ซึ่งตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แผ่นที่ 2 ปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าเป็น “บัญชีของกลางคดีอาญา” อันมีความหมายว่าพนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลาง เนื่องจากอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 เช่นนี้ การยึดทรัพย์จากโจทก์แต่ละครั้งดังกล่าว เป็นการยึดที่แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาผลทางกฎหมายจากเหตุที่ยึดเป็นสำคัญ
สำหรับในการยึดทรัพย์ครั้งแรกตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืนนั้นมีข้อความในตอนท้ายว่า “ข้าฯ ขอรับรองว่ารายการทรัพย์ตามบัญชีดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นทรัพย์ของข้าฯ ที่ถูกผู้ต้องหาประทุษร้ายไปจริง และได้สอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่โต้เถียงกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด พนักงานสอบสวนจึงได้มอบทรัพย์ให้กับข้าฯ รับคืนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นความจริง” และมีลายมือชื่อของผู้กล่าวหา, รับของคืน และลายมือชื่อของโจทก์ ในฐานะผู้ต้องหาที่ 3 ลงไว้ เช่นนี้ เท่ากับโจทก์ยอมรับในขณะยึดทรัพย์ว่าทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่า ทรัพย์ดังกล่าวโจทก์เป็นเจ้าของ ข้อเท็จจริงจึงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิติดตามเอาคืนตามมาตรา 1336 ดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจที่จะเรียกคืนได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
ส่วนในการยึดเงินสดจำนวน 83,000 บาท ในการยึดครั้งที่สองนั้น เมื่อเป็นการยึดเพื่อเป็นพยานหลักฐาน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสามบัญญัติว่า “สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น” เห็นว่า แม้เงินสดจำนวน 83,000 บาท ยึดจากโจทก์แต่ก็อาจใช้เป็นพยานหลักฐานสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นได้ เมื่อมาตรา 85 วรรคสาม ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องคืนให้แก่ผู้ต้องหาคนที่ถูกยึดมาเมื่อคดีสำหรับผู้ต้องหาคนดังกล่าวถึงที่สุด จึงต้องตีความว่าคดีถึงที่สุดทั้งคดี การที่โจทก์ถูกดำเนินคดีพร้อมกับจำเลยคนอื่นและคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับคืนเงินจำนวน 83,000 บาท นับแต่วันดังกล่าว ไม่ใช่นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2533 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย และเมื่อปรากฏว่าเงินสดจำนวน 83,000 บาท ถูกยึดไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นการยึดไว้เกี่ยวกับการกระทำผิดโดยประการอื่น กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 โจทก์จึงต้องฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คือต้องฟ้องภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ต้องฟ้องเรียกคืนภายในวันที่ 26 มกราคม 2535 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของโจทก์ข้ออื่นนอกจากนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share