คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4811-4812/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์ประกอบความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จะต้องประกอบด้วย การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ โดยเอกสารดังกล่าวต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานและการแจ้งข้อความนั้นน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันนำใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร.6) ปลอม ไปใช้แสดงต่อนายทะเบียนเพื่อให้นายทะเบียนออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่ให้ ฟ้องในส่วนนี้จึงเห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานใช้เอกสารปลอมเท่านั้น หากโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงองค์ประกอบความผิดให้ชัดเจนครบถ้วนทุกข้อ แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายองค์ประกอบความผิดในข้อที่ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดโดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ปลอมบัตรประจำตัวประชาชน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ จึงเป็นการพิพากษาในข้อที่มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องจำเลยทั้งสาม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 265, 267, 268 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้ลงโทษ จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า โจทก์ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ในข้อ 1 ข. ที่บรรยายว่า จำเลยทั้งสามกับพวกได้บังอาจนำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับดังกล่าวไปใช้แสดงต่อนายไพศาล จันทร์ทัน นายทะเบียนกิ่งอำเภอนาตาลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่เพื่อให้ออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่ตามใบรับแจ้งดังกล่าวเป็นเหตุให้นายไพศาลหลงเชื่อและได้ออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่ อันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการให้จำเลยทั้งสามกับพวกรับไป ทั้งนี้ จำเลยทั้งสามกับพวกมีเจตนาเพื่อจะให้ชื่อนางสาวปราณี มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 2 ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยมิชอบ และมีเจตนาที่จะสวมตัวนางนิตยา แทนนางสาวปราณี โดยหลังจากนั้นได้มีการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอม โดยข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนเป็นของนางสาวปราณี แต่ติดรูปของนางนิตยาเข้าไปแทนรูปของนางสาวปราณีอันอาจเกิดความเสียหายแก่นางสาวปราณี นายไพศาล กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยและประชาชนโดยทั่วไปนั้น เป็นการบรรยายให้เห็นแล้วว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้กระทำความผิดโดยการแจ้งให้นายไพศาลนายทะเบียนกิ่งอำเภอนาตาล ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในใบแจ้งการย้ายที่อยู่อันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 แล้ว เห็นว่า องค์ประกอบของความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 นั้นจะต้องประกอบด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความนั้นลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ โดยเอกสารดังกล่าวต้องมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน และการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนี้น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์มุ่งประสงค์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมเท่านั้น หากโจทก์ประสงค์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จด้วยโจทก์ก็ต้องกล่าวบรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ให้ชัดเจนครบถ้วนทุกข้อ แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงองค์ประกอบของความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในข้อที่ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดโดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องสำหรับการกระทำของจำเลยทั้งสามในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 มาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 โดยปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของนางสาวปราณี นั้น เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของนางสาวปราณีแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share