คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1573/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า “ประชาชน” ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หมายถึง บุคคลทั่วไป ไม่จำกัดตัวว่าเป็นบุคคลใด และไม่ถือจำนวน มากน้อยเป็นสำคัญจำเลยหลอกลวง ว. แล้ว ว.พาจำเลยไปหาช.จำเลยจึงหลอกลวงช. แม้เหตุการณ์ในบ้านของจำเลยจะมีคนอื่นอยู่ด้วยอีกสองคน ก็ไม่ใช่บุคคลทั่วไป ตามความหมายของกฎหมายบทนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็น ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงประชาชนด้วยการโฆษณา แสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท จ. เป็นผู้ดำเนินงานจัดหางานให้คนงานไปทำงานยังต่างประเทศ ความจริงจำเลยไม่มีเจตนาที่จะส่งคนไปทำงานต่างประเทศ และไม่สามารถจัดหางานแก่คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศได้ และข้อเท็จจริงคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการ จัดหางานให้คนหางานได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ แสดงว่าจำเลย มิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย เพียงแต่อ้าง ข้อความเท็จเพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำ ของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ เมื่อระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2528ถึงวันที่ 18 มกราคม 2529 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดหางานให้คนหางานที่ประสงค์ไปทำงานในต่างประเทศ โดยเรียกและรับเงินค่าบริการตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย และหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของบริษัทเจนเนอรัลเฮาส์ คอนสตรัคชั่นประเทศซีเรีย เป็นผู้ดำเนินงานจัดหางานให้คนงานไปทำงานยังต่างประเทศและที่ประเทศบาห์เรนได้ โดยผู้หางานต้องเสียเงินค่านายหน้าและค่าบริการให้แก่จำเลยทั้งสองอันเป็นความเท็จความจริงจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะส่งคนไปทำงานที่ต่างประเทศและที่ประเทศบาห์เรน และไม่สามารถจัดหางานให้แก่คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศได้ จำเลยทั้งสองได้ปกปิดความจริงซึ่งควรต้องแจ้งแก่ประชาชนทั่วไป โดยการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองมีประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นความจริง ได้สมัครงานของจำเลยทั้งสองรวม 42 ราย เสียเงินค่านายหน้า ค่าบริการต่าง ๆ แก่จำเลยทั้งสองรวม 567,000 บาท ตามบัญชีรายชื่อและจำนวนเงินท้ายฟ้องเหตุเกิดที่แขวงสวนหลวง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 91, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 567,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ฐานฉ้อโกงประชาชน จำคุกคนละ 5 ปี ฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 54,000 บาท แก่ผู้เสียหายสี่คนที่มาเบิกความ ส่วนผู้เสียหายอื่นพยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่าได้เสียเงินไปจริงหรือไม่ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 จำคุกคนละ 2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 หรือไม่ บทบัญญัติดังกล่าวมีว่า”ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน” คำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด และไม่ถือจำนวนมากน้อยเป็นสำคัญคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นชาวซีเรียได้สมรสกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนไทย และพักอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ได้บอกนายวินิตย์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัทเจนเนอรัลเฮาส์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศซีเรีย บริษัทดังกล่าวต้องการคนงานไปทำงานในต่างประเทศนายวินิตย์ได้พาจำเลยที่ 1 ไปหานายไชยยันต์ซึ่งเป็นเพื่อนของนายวินิตย์และเป็นผู้กว้างขวางรู้จักคนงานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศโดยมีนายวิสิทธิไปด้วย จำเลยที่ 1ได้บอกนายไชยยันต์เช่นเดียวกับที่นายวินิตย์ นายไชยยันต์รับจะช่วยเหลือหาคนงานให้ หลังจากนั้นนายไชยยันต์กับนายวินิตย์ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ในเรื่องดังกล่าว ต่อมามีผู้เสียหายที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศได้ติดต่อนายไชยยันต์เพื่อให้ติดต่อจำเลยที่ 1 และเสียค่านายหน้าให้นายไชยยันต์แล้วนายไชยยันต์นำค่านายหน้าดังกล่าวไปมอบแก่จำเลยที่ 1อีกต่อหนึ่ง ในการนี้จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยเมื่อได้รับเงินแล้วจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ การกระทำดังกล่าวเห็นได้ว่า ในชั้นต้นจำเลยที่ 1กระทำการหลอกลวงต่อนายวินิตย์ แล้วนายวินิตย์พาจำเลยที่ 1ไปหานายไชยยันต์ จำเลยที่ 1 จึงได้กระทำการหลอกลวงต่อนายไชยยันต์ส่วนเหตุการณ์ในบ้านของจำเลยที่ 1 ก็เช่นกันแม้จะมีคนอื่นคือ นายวิสิทธิ นายนันทวัฒน์ อยู่ด้วยก็ไม่ใช่บุคคลทั่วไปตามความหมายของกฎหมายบทนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 กรณีเช่นนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 709/2523ระหว่าง นายกัง แซ่โง้ว โจทก์ ธนาคารเอเซีย จำกัด กับพวกจำเลย คำพิพากษาฎีกาที่ 2645/2527 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดหนองคาย โจทก์ นายชัยรัตน์ มูลสะดู่ จำเลย เป็นต้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการโฆษณาแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของบริษัทเจนเนอรัลเฮ้าส์ คอนสตรัคชั่น ประเทศซีเรียเป็นผู้ดำเนินงานจัดหางานให้คนงานไปทำงานยังต่างประเทศได้ความจริงจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะส่งคนไปทำงานที่ต่างประเทศและไม่สามารถจัดหางานให้แก่คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศได้จำเลยทั้งสองได้ปกปิดความจริงซึ่งควรต้องแจ้งแก่ประชาชนทั่วไปและข้อเท็จจริงคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ดำเนินการจัดหา งานให้คนหางานได้ไปทำงานยังต่างประเทศ แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด เพียงแต่อ้างข้อความเท็จเพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528″
พิพากษายืน

Share