แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หลักฐานรายจ่ายเกี่ยวกับค่าช่วยเหลือชักนำลูกค้าเป็นแบบฟอร์ม ที่โจทก์จัดทำขึ้นเอง โจทก์จะให้คนของโจทก์กรอกข้อความอย่างไร ก็ได้ เอกสารทุกฉบับมีแต่ลายเซ็นชื่อของผู้รับเงินเท่านั้น นามสกุล ก็ ไม่ปรากฏ สถานที่อยู่ของผู้รับเงินก็ไม่มีให้ตรวจสอบถึง ความถูกต้อง แท้จริงได้ เป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจการค้า ที่มีเงินลงทุน จำนวนมากและสถิติการจำหน่ายสินค้าได้นับจำนวน พันล้านบาทต่อปี เช่นโจทก์จะพึงกระทำโดยหละหลวมเช่นนั้น พยานหลักฐาน ที่โจทก์นำสืบ มายังไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าโจทก์ได้จ่ายเงิน ช่วยเหลือชักนำลูกค้า จริง ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามนำ มา หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(18) โจทก์มีแต่ ช. เป็นพยานเบิกความไม่มีเอกสารอื่นใดมาสนับสนุนว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการที่โจทก์ให้บริษัทในเครือยืมเงินไป มากกว่าดอกเบี้ยที่จะได้จากบริษัทในเครือของโจทก์เท่าใด จึงฟัง ไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริษัทในเครือของโจทก์มากกว่า ที่จะได้รับดอกเบี้ย จากเงินที่โจทก์ได้ให้ยืมไปนั้น ทั้งการที่ โจทก์ให้บริษัทในเครือของโจทก์กู้ยืมไปนี้ก็เพื่อบริษัทในเครือ ของโจทก์ไปผลิต สินค้ามาให้โจทก์จำหน่าย แม้โจทก์จะได้ผลกำไรจาก การจำหน่ายสินค้านั้นด้วย ก็ยังถือไม่ได้ว่าดอกเบี้ยที่โจทก์จ่าย ให้แก่สถาบันการเงินที่ โจทก์ ได้กู้ยืมเงินมา เป็นรายจ่ายเพื่อหา กำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ของโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้นำมาหัก เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(13) ค่าเครื่องบิน ค่าที่พักและค่าอาหารอันเป็นค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบ ให้เชื่อได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปใน ธุรกิจของโจทก์ จึงถือว่าเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(3) จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์แม้จำเลยจะมิได้คัดค้านหรือนำสืบหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ได้ข้อเท็จจริงว่าเป็น ดังที่โจทก์อ้าง เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จำเลยให้โจทก์เสีย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์ นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่ารับรอง หรือค่าบริการไปเนื่องจากการประกอบกิจการของโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าค่าใช้จ่าย ดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่เกินสมควร ซึ่งไม่ให้ถือ เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(4)หรือไม่ต่อไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบการค้าโดยซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยและจัดจำหน่ายสินค้าที่บริษัทในเครือผลิตขึ้นเองในประเทศไทยด้วย เงินที่โจทก์ให้บริษัทในเครือกู้ยืมไปก็ดี ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการรับรองลูกค้าในการส่งเสริมการขายสินค้าที่โจทก์ได้จ่ายไปก็ดีล้วนเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์โดยตรงทั้งสิ้น ซึ่งเป็นจำนวนเหมาะสมกับภาวะตลาดและไม่เกินอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถหักจากบัญชีได้ การที่พนักงานของจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์กระทำไม่ถูกต้องแล้วประเมินย้อนหลังเรียกเก็บเงินจากโจทก์เป็นจำนวนสูง เป็นการไม่ถูกต้องขอให้พิพากษาว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการประเมินโดยชอบแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างบางรายการโจทก์ไม่มีใบสำคัญการจ่าย บางรายการมีใบสำคัญคู่จ่ายก็เป็นเอกสารที่โจทก์จัดทำขึ้นเอง บางรายการก็มีลักษณะเป็นการส่วนตัวบางรายการถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการเพื่อหากำไรของโจทก์โดยเฉพาะจึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่าย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 15ตุลาคม 2522 เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยมีหนังสือแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มสั่งให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลกับเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 ไปชำระแก่จำเลยดังนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 จำนวน 712,760.93 บาท รอบระยะเวลาบัญชีปี 2516 จำนวน1,084,591.19 บาท รอบระยะเวลาบัญชีปี 2517 จำนวน 1,636,492.51 บาทรอบระยะเวลาบัญชีปี 2518 จำนวน 2,349,579.38 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 จำนวน 2,199,325.54 บาท ตามหนังสือของกองตรวจภาษีอากร กรมสรรพากร ที่ ต.3/1070/2/01975-01979ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2522 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ถึงหมายเลข 6และเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2523 มีหนังสือแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มสั่งให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลกับเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 ไปชำระแก่จำเลยอีกดังนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 จำนวน 2,837,253.58 บาท กับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 จำนวน 3,459,164.09 บาท ตามหนังสือของกองตรวจภาษีอากร กรมสรรพากรที่ ต.3/1070/2/02217-02218 ลงวันที่7 พฤศจิกายน 2523 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 และหมายเลข 8 รวมเป็นเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลกับเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น 14,000,000 บาทเศษโดยอ้างว่าโจทก์นำรายจ่ายหลายรายการที่ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิโจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์โต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9กับหมายเลข 10 ตรงกับเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 24 ถึงแผ่นที่ 42ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 ถึง2519 โดยอ้างเหตุผลที่วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว กรณียังไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันงดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์นำภาษีและเงินเพิ่มไปชำระแก่จำเลยเป็นเงิน 7,982,749.55 บาทตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 575/2531/2 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2531เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ตรงกับเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 4ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 กับปี 2521 มีคำวินิจฉัยให้ลดภาษีที่เรียกเก็บรวมทั้งเงินเพิ่มลง 63,340.19 บาท และ 63,840 บาทตามลำดับ กับให้โจทก์นำเงินภาษีและเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 จำนวน 2,773,913.39 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 จำนวน 3,395,324.09 บาท ไปชำระแก่จำเลยตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 576 ก./2531/2 และเลขที่ 576 ข./2531/2 ลงวันที่ 26สิงหาคม 2531 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 และหมายเลข 13 ตรงกับเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 6 และแผ่นที่ 8 โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า รายจ่ายเกี่ยวกับค่าช่วยเหลือชักนำลูกค้า โจทก์มีหลักฐานการจ่ายเงินถูกต้องตามความเป็นจริงตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ถึงแผ่นที่ 65 หรือเอกสารหมายเลขล.5 และ ล.7 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ระบุว่าค่าขนส่งและติดตั้งกับดูแลรักษา แม้จะมีความหมายว่าเป็นค่าชักนำให้ลูกค้ามาซื้อเครื่องยนต์จากโจทก์ด้วยก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวนี้เป็นแบบฟอร์มที่โจทก์จัดทำขึ้นเอง โจทก์จะให้คนของโจทก์กรอกข้อความอย่างไรก็ได้ เอกสารทุกฉบับมีแต่ลายเซ็นชื่อของผู้รับเงินเท่านั้น นามสกุลก็ไม่ปรากฏ สถานที่อยู่ของผู้รับเงินก็ไม่มีให้ตรวจสอบถึงความถูกต้องแท้จริงของผู้รับเงินได้ เป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่มีเงินลงทุนจำนวนมาก และสถิติการจำหน่ายสินค้าได้นับจำนวนพันล้านบาทต่อปี เช่นโจทก์จะพึงกระทำโดยหละหลวมเช่นนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมากโจทก์น่าจะนำลูกค้าหรือผู้ชักนำลูกค้าของโจทก์มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนบ้างแต่โจทก์ก็มิได้นำมาเลย คงมีแต่กรรมการของโจทก์เองเบิกความลอย ๆ ที่โจทก์นำนายปรีชา เตชะโพไทร และนายกิตติฉายาพันธ์ มาเบิกความเป็นพยานนั้น คำเบิกความของนายปรีชาก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีเหตุผลอันใดที่ลูกค้าที่ซื้อเครื่องยนต์ไปจากโจทก์จะยอมให้นายปรีชารับเงินค่าติดตั้งเครื่องยนต์แทนทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน สำหรับนายกิตตินั้นแม้จะลงชื่อเป็นผู้รับเงินจากโจทก์ ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1ถึง 6 และในเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 133 ก็เป็นการรับเงินแทนผู้ซื้อเท่านั้น หาได้รับเงินในฐานะผู้ชักนำหรือผู้ติดตั้งเครื่องยนต์แต่อย่างใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าโจทก์ได้จ่ายเงินช่วยเหลือชักนำลูกค้าจริงถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับต้องห้ามนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18)
โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สองว่า รายจ่ายเกี่ยวกับค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมมาแล้วให้บริษัทในเครือกู้ยืมไปโดยไม่คิดดอกเบี้ยเพราะบริษัทในเครือของโจทก์มีข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะต้องนำเงินไปผลิตสินค้าเหล็กเส้น สี และผลิตภัณฑ์ทองเหลืองมาให้โจทก์จำหน่ายในกิจการค้าของโจทก์ ชอบที่จะนำเอาดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายแก่สถาบันการเงินมาหักเป็นรายจ่ายของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีแต่นายชัย ทองไทย เป็นพยานเบิกความไม่มีเอกสารอื่นใดมาสนับสนุนว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการที่โจทก์ให้บริษัทในเครือยืมเงินไปมากกว่าดอกเบี้ยที่จะได้จากบริษัทในเครือของโจทก์เท่าใดจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริษัทในเครือของโจทก์มากกว่าที่จะได้รับดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์ได้ให้กู้ยืมไปนั้นทั้งการที่โจทก์ให้บริษัทในเครือของโจทก์กู้ยืมไปนี้ก็เพื่อบริษัทในเครือของโจทก์ไปผลิตสินค้ามาให้โจทก์จำหน่าย แม้โจทก์จะได้ผลกำไรจากการจำหน่ายสินค้านั้นด้วย ก็ยังถือไม่ได้ว่าดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายให้แก่สถาบันการเงินที่โจทก์ได้กู้ยืมเงินมา เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13)
โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สามว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศ มิใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นส่วนตัวหรือเป็นรายจ่ายสำหรับบุคคลซึ่งไม่มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบในธุรกิจของโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวคือค่าเครื่องบิน ค่าที่พักและค่าอาหาร ปรากฏตามใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 64ถึงแผ่นที่ 108 ซึ่งโจทก์นำสืบว่า เป็นการเดินทางไปติดต่อธุรกิจของโจทก์ในต่างประเทศเป็นประจำ บางครั้งกรรมการผู้จัดการไปเองบางครั้งพนักงานของโจทก์ไปเองหรือไปด้วยกัน แต่หลักฐานการจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินส่วนมากระบุว่า รับเงินจาก “ทองไทย” อันเป็นนามสกุลของกรรมการบริษัทโจทก์ก็มี และตามคำให้การของจำเลยก็ต่อสู้ว่าเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ก็มี หรือผู้มีศึกษาอยู่ในต่างประเทศก็มี คงมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ระบุชื่อนายชัย ทองไทยกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ อย่างไรก็ดีโจทก์มิได้แสดงหลักฐานการสั่งให้กรรมการผู้จัดการหรือพนักงานของโจทก์คนใดไปต่างประเทศในธุรกิจของโจทก์เพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ด้วยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าในชั้นตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนั้น ได้ตัดรายจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 ถึงปี 2519 ในอัตราร้อยละ 10ของค่าใช้จ่ายที่ไม่มีหลักฐานการจ่ายค่าเดินทางไปต่างประเทศให้โจทก์บางส่วนแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เชื่อได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในธุรกิจของโจทก์จึงถือว่าเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรับรองหรือค่าบริการเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปเพื่อกิจการของโจทก์ในจำนวนที่ไม่เกินสมควร เมื่อจำเลยไม่คัดค้านหรือนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ให้ฟังเป็นอย่างอื่น ต้องฟังข้อเท็จจริงตามหลักฐานที่โจทก์นำสืบ รายจ่ายดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามถือเป็นรายจ่ายนั้น โจทก์นำสืบว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการรับรองลูกค้าของโจทก์ ค่ารับรองบริษัทต่างประเทศที่โจทก์สั่งสินค้าเข้ามาจำหน่าย ค่าพาหนะรับส่งสินค้า ค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าออกจากท่าเรือ และค่าพาหนะในการส่งสินค้าไปยังบริษัทที่จะขนส่งของไปต่างจังหวัดอีกทอดหนึ่ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3แผ่นที่ 2 ถึง 9 และแผ่นที่ 13 ซึ่งยอดขายของโจทก์ตั้งแต่ปี 2515ถึงปี 2521 เป็นเงินทั้งสิ้น 2,700 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารับรองหรือค่าบริการรวมทั้งสิ้น 8 ล้านบาทเศษ ไม่เกิน 0.3เปอร์เซ็นต์ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเป็นจำนวน 4 ล้านบาทเศษ ไม่เกิน 0.15 เปอร์เซ็นต์และมีกฎกระทรวงฉบับที่ 143 (พ.ศ. 2522) กำหนดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่ารับรองและค่าบริการไว้ไม่ให้เกิน 0.3 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายค่าใช้จ่ายที่โจทก์นำมาหักระหว่างปี 2515-2521 จึงไม่เกินจำนวนดังกล่าว จำเลยนำสืบว่า ในชั้นตรวจสอบได้คัดเฉพาะค่าบริการและค่ารับรองซึ่งไม่มีใบเสร็จมาประกอบการตัดจ่ายของโจทก์ทั้งนี้โดยโจทก์เขียนใบสั่งจ่ายขึ้นเองระบุว่าเป็นค่ารับรองค่าของขวัญ โดยกำหนดไว้ทุกเดือนมีจำนวนใกล้เคียงกัน ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ให้ถือว่าเป็นรายจ่ายก็เฉพาะแต่รายการที่ไม่มีใบเสร็จรับเงินเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (4)อันเป็นบทกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ บัญญัติว่าค่ารับรองหรือค่าบริการในส่วนที่เกินสมควร เป็นรายการที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้เป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการของโจทก์โดยตรงหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีหลักฐานใบสำคัญการสั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 2ถึง 9 และแผ่นที่ 13 ส่วนแผ่นที่ 78 ถึงแผ่นที่ 169 เป็นบิลของบริษัทขนส่งสินค้าโดยระบุจำนวนสินค้าที่ส่ง แต่ตามหลักฐานดังกล่าวไม่ระบุว่าเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการที่โจทก์ได้ใช้จ่ายไปในกิจการของโจทก์เลย ส่วนเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 78 ถึงแผ่นที่ 169ก็ระบุไว้แต่จำนวนสินค้าเท่านั้น ค่าขนส่งสินค้าจำนวนเท่าใดก็ไม่ระบุและโจทก์มีเพียงนายชัย ทองไทย เบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้คัดค้านหรือนำสืบหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่นดังที่โจทก์อุทธรณ์มาก็ตาม โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ได้ข้อเท็จจริงว่าเป็นดังที่โจทก์อ้างเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จำเลยให้โจทก์เสียพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่ารับรองหรือค่าบริการไปเนื่องจากการประกอบกิจการของโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่เกินสมควรหรือไม่ต่อไปที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.