แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขนส่งสินค้าพิพาทนี้เป็นการขนส่งแบบ CY/CY คือ ผู้ส่งรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งนำไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าเอง แล้วผู้ส่งนำตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าและปิดผนึกตู้สินค้าแล้วมาส่งมอบแก่ผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งได้รับตู้สินค้าในสภาพเรียบร้อยบรรทุกลงเรือเดินทะเล เจ้าหน้าที่ท่าเรือรับมอบตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทจากผู้ขนส่งหรือตัวแทนของผู้รับตราส่งมิได้บันทึกว่าตู้สินค้าดังกล่าวมีความเสียหายหรือผิดปกติแต่อย่างใด แสดงว่าตู้สินค้ามีสภาพปกติตั้งแต่ส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งจนถึงส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ปลายทาง สินค้าพิพาททั้งหมดมีอยู่จำนวน 44 แผ่นไม้รองสินค้า สินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้ามีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม มีเพียง 3 แผ่นไม้รองสินค้าเท่านั้น ที่มีน้ำหนัก 136.5 กิโลกรัม และ 241.5 กิโลกรัม สินค้าพิพาททั้งหมดผู้ส่งเป็นผู้จัดเรียงไว้ในตู้สินค้า โดยวางซ้อนกัน 2 ชั้นได้หมดทั้ง 44 แผ่นไม้รองสินค้า แต่โครงสร้างการหีบห่อสินค้าพิพาทมิได้จัดไว้เพื่อรองรับการกดทับวัตถุที่มีน้ำหนักมากๆ จากด้านบนได้อย่างปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ โดยเฉพาะวัตถุที่มีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม การที่ผู้ส่งจัดวางสินค้าพิพาทซ้อนกัน 2 ชั้น ในลักษณะ 1 แผ่นไม้รองสินค้า ต่อ 1 แผ่นไม้รองสินค้า ในตู้สินค้าจึงมีความเสี่ยงสูงในการที่แผ่นไม้ 2 ท่อน ที่วางเป็นรูปกากบาทด้านบนของสินค้าพิพาทชั้นล่างจะไม่สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้าที่อยู่ด้านบนได้ หากมีการโยกเอียงให้ไม้ประกบด้านข้างของสินค้าพิพาทที่อยู่บนแผ่นไม้รองสินค้าพิพาทชั้นล่างเคลื่อนไปจากแนวตั้งตรงที่ 90 องศา ข้อเท็จจริงจากรายงานการสำรวจภัยพบว่าการจัดวางสินค้าพิพาทมิได้มีลักษณะ 1 แผ่นไม้รองสินค้าต่อ 1 แผ่นไม้รองสินค้า แต่มีการจัดวางสินค้าพิพาทชั้นล่างเพียง 21 แผ่นไม้รองสินค้า แต่ในชั้นที่ 2 หรือชั้นบนมีสินค้าพิพาทจัดวางไว้ถึง 23 แผ่นไม้รองสินค้า แสดงให้เห็นว่า สินค้าพิพาท 1 แผ่นไม้รองสินค้า ที่วางอยู่ชั้นล่างบางส่วน ต้องรองรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทด้านบนมากกว่า 1 แผ่นไม้รองสินค้า ดังนั้น โอกาสที่สินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่างจะไม่สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านบนมีอยู่มากขึ้นอีก เมื่อตู้สินค้ามีการถูกยกเคลื่อนย้ายแต่ละครั้ง อาจทำให้สินค้าพิพาทด้านบนเคลื่อนไหว ทำให้ไม้ประกบด้านข้างของสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่างเคลื่อนที่ และไม่อาจรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทด้านบนได้จึงมีการยุบหักของไม้ประกบกันกระแทกด้านข้างและด้านบนของสินค้าพิพาทชั้นล่าง ทำให้แผ่นไม้รองสินค้าของสินค้าด้านบนยุบตัวลงกระแทกกับสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่าง ทำให้สินค้าพิพาทด้านล่างเสียหาย ทำให้แผ่นไม้รองสินค้าดังกล่าวถูกแรงกดทับของตัวสินค้าแตกหักเสียหายไปพร้อมกับตัวสินค้าด้วย ความเสียหายของสินค้าพิพาทจึงมิได้เกิดจากกระบวนการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ไม่ระมัดระวัง แต่เกิดจากความผิดของผู้ส่งของที่บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้สินค้าโดยจัดเรียงสินค้าไม่เหมาะสม ทำให้สินค้าพิพาทกดทับกันเกิดความเสียหาย ความเสียหายของสินค้าพิพาทตามฟ้องจึงเกิดจากความผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (9)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,675,460.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,632,196.50 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 มิถุนายน 2548) ต้องไม่เกิน 43,264.38 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 40,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทมิได้เกิดจากความผิดของผู้ขนส่ง แต่เกิดจากความผิดของผู้ส่งของที่ทำการบรรจุและผูกมัดสินค้าพิพาทภายในตู้สินค้าไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้สินค้าเกิดความเสียหายขึ้นวินิจฉัยก่อนปัญหาข้ออื่น เห็นว่า การขนส่งสินค้าพิพาทนี้เป็นการขนส่งแบบ CY / CY คือ ผู้ส่งรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งนำไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าเอง แล้วผู้ส่งนำตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าและปิดผนึกตู้สินค้าแล้วมาส่งมอบแก่ผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งได้รับตู้สินค้าในสภาพเรียบร้อยบรรทุกลงเรือเดินทะเลชื่อ เอซีเอ็กซ์ สวัน เดินทางจากท่าเรือคลัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2548 ถึงท่าเรือแหลมฉบัง วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 วัน ได้ความว่าเจ้าหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบังรับมอบตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทจากผู้ขนส่ง หรือตัวแทนของผู้รับตราส่งที่นำรถยกมายกตู้สินค้าไปยังโรงพักสินค้าเพื่อเปิดตู้สินค้าต่างก็มิได้บันทึกว่าตู้สินค้ามีความเสียหายหรือผิดปกติแต่อย่างใด แสดงว่าตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทมีสภาพปกติตั้งแต่ส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่ง ระหว่างการขนส่งจนถึงส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ปลายทาง แต่เมื่อพิจารณาถึงความเสียหายของสินค้าพิพาท สินค้าพิพาทเป็นท่อทองแดงม้วนขดเป็นวงจำนวน 132 ม้วน แต่ละม้วนบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก ท่อทองแดงจำนวน 3 ม้วน จะถูกนำมาวางซ้อนกันเป็นชั้นแต่ละชั้นมีกระดาษหนาคั่นระหว่างแต่ละม้วน หลังจากนั้นห่อหุ้มด้วยพลาสติกขนาดใหญ่ ห่อด้วยกระดาษชนิดหนาพิเศษ วางบนแผ่นไม้รองสินค้า ด้านข้างทั้ง 4 ด้าน มีไม้ท่อน 4 ท่อน ยาวกว่าความสูงของม้วนทองแดง 3 ชั้น เล็กน้อย วางประกบตัวสินค้าที่ห่อด้วยกระดาษชนิดหนาพิเศษแล้วทั้ง 4 ด้าน แล้วผูกรัดด้วยแผ่นเหล็กแถบจำนวน 4 เส้น โดยไม้ท่อนทั้ง 4 ท่อน ตั้งอยู่บนแผ่นไม้รองสินค้า ส่วนด้านบนของสินค้าที่วางบนแผ่นไม้รองสินค้า 1 แผ่น จะมีไม้ท่อน 2 ท่อน วางตัดกันเป็นรูปกากบาทโดยปลายไม้ท่อนแต่ละด้านยึดติดอยู่กับปลายบนของไม้ท่อนทั้ง 4 ท่อน ที่ยึดประกบด้านข้างของสินค้าไว้ สินค้าพิพาททั้งหมดมีอยู่จำนวน 44 แผ่นไม้รองสินค้า สินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้ามีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม มีเพียง 3 แผ่นไม้รองสินค้าเท่านั้น ที่มีน้ำหนักเพียง 136.5 กิโลกรัม และ 241.5 กิโลกรัม สินค้าพิพาททั้งหมด ผู้ส่งเป็นผู้จัดเรียงไว้ในตู้สินค้า โดยวางซ้อนกัน 2 ชั้นได้หมดทั้ง 44 แผ่นไม้รองสินค้า จากคำเบิกความของนายขจร เจ้าหน้าที่ผู้สำรวจความเสียหายของสินค้าพิพาท พยานโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า ไม้ที่นำมาทำแผ่นไม้รองสินค้าเป็นประเภทไม้สนมีการไหวตัวในการรับน้ำหนักได้เว้นแต่จะได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง ส่วนนางสาวสุขเสริม ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการตู้สินค้า สาขาแหลมฉบัง ของบริษัทเอ็น.วาย.เค.ชิปปิ้ง เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด พยานจำเลยมาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า จากประสบการณ์ ไม้ที่รองสินค้าจะใช้ไม้เนื้ออ่อน ซึ่งเมื่อใช้เสร็จแล้วก็จะทิ้งไป เห็นว่า ไม้สนจัดเป็นประเภทไม้เนื้ออ่อนประเภทหนึ่ง แม้จะมีความแข็งแรงแต่จะมีความสามารถรับน้ำหนักได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการประกอบให้เป็นรูปร่างเพื่อรองรับน้ำหนัก ตามรูปถ่ายสภาพการห่อหุ้มสินค้าพิพาทรวมถึงสภาพความเสียหายของสินค้าพิพาท จะเห็นว่าแผ่นไม้รองสินค้านำแผ่นไม้มาวางเรียงกันบนคานไม้ขนาดไม้หน้า 3 จำนวน 4 ท่อน วางเป็นคู่ตรงกลาง 2 ท่อน และวางด้านริมสุดทั้งสองด้านข้างละ 1 ท่อน ยึดติดตรึงกันไว้เป็นแผ่นไม้รองสินค้า 1 แผ่น โดยมีไม้ตีประกบยึดด้านล่างของแผ่นไม้รองสินค้ามิให้เคลื่อนที่ จากลักษณะดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า แผ่นไม้รองสินค้าแต่ละแผ่น สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทแต่ละชุดซึ่งมีน้ำหนักเฉลี่ยเกินกว่า 300 กิโลกรัมได้ แต่หากพิจารณาถึงการห่อหุ้มตัวสินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้าที่มีไม้ท่อน 4 ท่อน ประกบด้านข้างสำหรับกันกระแทก และด้านบนของสินค้าพิพาทมีเพียงไม้ท่อนอีก 2 ท่อน วางตัดกันไว้ยึดติดกับท่อนไม้ 4 ท่อน ที่วางประกบด้านข้าง ซึ่งน่าจะมีความหนาไม่เกิน 2 นิ้ว จะเห็นได้ว่าจากลักษณะดังกล่าว สามารถกันกระแทกจากด้านบนได้ในระดับหนึ่ง แต่เป็นที่เห็นได้ว่าจากโครงสร้างการหีบห่อสินค้าพิพาทมิได้จัดไว้เพื่อรองรับการกดทับวัตถุที่มีน้ำหนักมากๆ จากด้านบนได้อย่างปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ โดยเฉพาะวัตถุที่มีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม เช่น สินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้า ดังนั้น การที่ผู้ส่งจัดวางสินค้าพิพาทซ้อนกัน 2 ชั้น ในลักษณะ 1 แผ่นไม้รองสินค้า ต่อ 1 แผ่นไม้รองสินค้า ในตู้สินค้าจึงมีความเสี่ยงสูงในการที่แผ่นไม้ 2 ท่อน ที่วางเป็นรูปกากบาทด้านบนของสินค้าพิพาทชั้นล่างจะไม่สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้าที่อยู่ด้านบนได้ หากมีการโยกเอียงให้ไม้ประกบด้านข้างของสินค้าพิพาทที่อยู่บนแผ่นไม้รองสินค้าพิพาทชั้นล่างเคลื่อนไปจากแนวตั้งตรงที่ 90 องศา แต่ข้อเท็จจริงจากรายงานการสำรวจภัยพบว่า การจัดวางสินค้าพิพาทแต่ละแผ่นไม้รองสินค้าซ้อนกันมิได้มีลักษณะ 1 แผ่นไม้รองสินค้าต่อ 1 แผ่นไม้รองสินค้า แต่มีการจัดวางสินค้าพิพาทชั้นล่างเพียง 21 แผ่นไม้รองสินค้า แต่ในชั้นที่ 2 หรือชั้นบนมีสินค้าพิพาทจัดวางไว้ถึง 23 แผ่นไม้รองสินค้า แสดงให้เห็นว่า สินค้าพิพาท 1 แผ่นไม้รองสินค้า ที่วางอยู่ชั้นล่างบางส่วน ต้องรองรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทด้านบนมากกว่า 1 แผ่นไม้รองสินค้า ดังนั้น โอกาสที่สินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่างจะไม่สามารถรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านบนมีอยู่มากขึ้นอีก เมื่อตู้สินค้ามีการถูกยกเคลื่อนย้ายแต่ละครั้ง อาจทำให้สินค้าพิพาทด้านบนเคลื่อนไหว ทำให้ไม้ประกบด้านข้างของสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่างเคลื่อนที่ และไม่อาจรับน้ำหนักของสินค้าพิพาทด้านบนได้จึงมีการยุบหักของไม้ประกบกันกระแทกด้านข้างและด้านบนของสินค้าพิพาทชั้นล่าง ทำให้แผ่นไม้รองสินค้าด้านบนที่ไม้กันกระแทกของสินค้าพิพาทด้านล่างรับน้ำหนักไม่ไหวยุบตัวลงกระแทกกับสินค้าพิพาทที่อยู่ด้านล่าง ทำให้สินค้าพิพาทด้านล่างเสียหาย ทำให้แผ่นไม้รองสินค้าของสินค้าด้านบนถูกแรงกดทับของตัวสินค้าแตกหักเสียหายไปพร้อมกับตัวสินค้าด้วย จึงเห็นว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทมิได้เกิดจากกระบวนการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ไม่ระมัดระวัง แต่เกิดจากความผิดของผู้ส่งของที่บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้สินค้าโดยจัดเรียงสินค้าไม่เหมาะสม ทำให้สินค้าพิพาทกดทับกันเกิดความเสียหาย ความเสียหายของสินค้าพิพาทตามฟ้องจึงเกิดจากความผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52 (9) กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทหรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ความเสียหายของสินค้าให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท