แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52กำหนดห้ามมิให้นายจ้าง เลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษกรรมการลูกจ้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานการที่ผู้ร้องลงโทษตัดค่าจ้างผู้คัดค้านในกรณีที่ผู้คัดค้านกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเข้าปฏิบัติงานตามหน้าที่สาย 4 ครั้ง โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อน ย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ ดังกล่าว ไม่มีผลเป็นการลงโทษผู้คัดค้านตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลาง เลิกจ้างผู้คัดค้านด้วยเหตุกระทำผิดระเบียบข้อบังคับดังกล่าว จึงไม่เป็นการลงโทษ 2 ครั้ง ในการกระทำความผิด ครั้งเดียวกัน ผู้ร้องยังคงมีสิทธิขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลาง ลงโทษผู้คัดค้านได้ และการที่ผู้คัดค้านเคยถูกว่ากล่าว ตักเตือนเป็นหนังสือเรื่องการเข้าปฏิบัติหน้าที่สาย มาก่อนแต่กลับมากระทำผิดซ้ำคำเตือนอีก 4 ครั้ง ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้อง ลงโทษผู้คัดค้านได้ แต่การกระทำความผิดดังกล่าวผู้ร้องเคยแสดงเจตนาลงโทษผู้คัดค้านเพียงตัดค่าจ้างเท่านั้นจึงเห็นควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านเพียงตัดค่าจ้างเท่าที่ผู้ร้องได้ตัดค่าจ้างผู้คัดค้านไปแล้ว โดยให้คืนค่าจ้างที่ตัดไปโดยมิชอบแก่ผู้คัดค้านก่อน
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง จะต้องได้รับโทษทางวินัย ข้อ 4 ง.3 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2535 และยังเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ขออนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง
ผู้คัดค้านคัดค้านด้วยวาจาว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541ผู้คัดค้านเข้าปฏิบัติงานสายเพราะเหตุป่วย วันที่ 12 กุมภาพันธ์2541 และวันที่ 21 มีนาคม 2541 ผู้คัดค้านเข้าปฏิบัติงานสายเพราะเหตุรถจักรยานยนต์ซึ่งใช้เป็นยานพาหนะเสียกลางทางวันที่ 24 มีนาคม 2541 ผู้คัดค้านลากิจทั้งวันเพราะเหตุพี่ชายมาจากต่างจังหวัด และผู้ร้องได้ลงโทษตัดเงินเดือนของผู้คัดค้านเพราะเหตุเข้าปฏิบัติงานสายทุกครั้งแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิลงโทษเลิกจ้างผู้คัดค้านอีก ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าการที่ผู้ร้องตัดค่าจ้างผู้คัดค้านกรณีเข้าปฏิบัติงานตามหน้าที่สายในวันที่ 9 และ 12 กุมภาพันธ์ 2541 กับวันที่ 21 และ24 มีนาคม 2541 โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อศาลแรงงานกลางก่อนไม่มีผลเป็นการลงโทษผู้คัดค้านที่ได้กระทำความผิดดังกล่าวการยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างในคดีนี้จึงไม่เป็นการลงโทษ2 ครั้ง ในการกระทำความผิดครั้งเดียวกันนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษกรรมการลูกจ้างเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน การที่ผู้ร้องลงโทษตัดค่าจ้างผู้คัดค้านในกรณีที่ผู้คัดค้านกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเข้าปฏิบัติงานตามหน้าที่สายในวันที่ 9และ 12 กุมภาพันธ์ 2541 กับวันที่ 21 และ 24 มีนาคม 2541โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อน ย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลเป็นการลงโทษผู้คัดค้านตามกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องที่ขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเลิกจ้างผู้คัดค้านจึงไม่เป็นการลงโทษ 2 ครั้ง ในการกระทำความผิดครั้งเดียวกันผู้ร้องยังคงมีสิทธิขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางลงโทษผู้คัดค้านได้ปรากฏว่าในระหว่างที่หนังสือเตือนฉบับวันที่ 13 ตุลาคม 2540เรื่องผู้คัดค้านกระทำความผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่เข้าปฏิบัติหน้าที่สายมีผลใช้บังคับ ผู้คัดค้านได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนอีก 4 ครั้ง โดยเข้าปฏิบัติหน้าที่สายในวันที่9 และ 12 กุมภาพันธ์ 2541 กับวันที่ 21 และ 24 มีนาคม 2541ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านได้แต่พฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้คัดค้านดังกล่าวผู้ร้องเคยแสดงเจตนาลงโทษผู้คัดค้านเพียงตัดค่าจ้างเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านเพียงตัดค่าจ้างเท่าที่ผู้ร้องได้ตัดค่าจ้างผู้คัดค้านไปแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำร้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านโดยตัดค่าจ้างครึ่งวันสำหรับวันที่ 9 และ 12 กุมภาพันธ์ 2541 กับวันที่21 และ 24 มีนาคม 2541 ได้เท่ากับจำนวนที่ผู้ร้องได้ตัดค่าจ้างของผู้คัดค้านไป (โดยให้คืนค่าจ้างที่ตัดไปโดยมิชอบแก่ผู้คัดค้านก่อน)