คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8584/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกใช้ผ้าปิดปากขวดที่บรรจุน้ำมันและจุดไฟโยนเข้าไปในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน จนเกิดระเบิดและน่าจะเกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น เป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 221 แล้ว กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องกระทำโดยใช้วัตถุและต้องเกิดความเสียหายเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 221, 295, 340, 340 ตรี, 371 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 7,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 240 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 และนับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3371/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221, 371 ประกอบมาตรา 83 ด้วย ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 4 และที่ 7 อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 อายุ 17 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75, 76 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไป ปรับคนละ 50 บาท รวมจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 50 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุกคนละ 6 เดือน นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3371/2542 ของศาลชั้นต้น ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุกจำเลยทั้งเจ็ดคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิด จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันพาอาวุธมีดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี 3 เดือน และปรับคนละ 50 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 คงจำคุกคนละ 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่าสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่น่าจะต้องรับผิดเต็มตามกฎหมายกำหนดเพราะไม่ใช่ระเบิดจริง ๆ และการระเบิดเพียงแต่น่าจะเกิดความเสียหายเท่านั้นไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท” จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกใช้ผ้าปิดปากขวดที่บรรจุน้ำมันและจุดไฟโยนเข้าไปในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน จนเกิดระเบิดและน่าจะเกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น เป็นความผิดสำเร็จตามบทกฎหมายมาตรานี้แล้ว กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องกระทำโดยใช้วัตถุระเบิดและต้องเกิดความเสียหายเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นด้วยไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 หลังจากลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกคนละ 1 ปี สถานเดียว ไม่ได้ลงโทษปรับด้วยเท่ากับวางโทษจำคุกคนละ 2 ปี ต่ำกว่าโทษตามกฎหมายที่ศาลจะลงโทษจำคุกได้ถึง 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 เต็มตามโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ฎีกาขอให้ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ด้วยนั้น เห็นว่า บทกฎหมายมาตรานี้ให้อำนาจศาลที่จะลดโทษเมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าสมควรลดโทษตามบทกฎหมายมาตรานี้หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 อ้างเหตุว่าเป็นผู้เยาว์นั้น ศาลล่างทั้งสองได้ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว จึงไม่เป็นเหตุที่จะลดโทษให้ตามมาตรา 78 อีก และที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 อ้างเหตุว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ให้การรับสารภาพบางข้อหาในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ศาลล่างทั้งสองไม่ได้นำคำรับดังกล่าวมารับฟังประกอบการวินิจฉัยชี้ขาดคดีลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 แสดงว่าศาลล่างทั้งสองไม่ถือว่าคำรับดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและไม่ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ ส่วนที่มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พวกผู้เสียหายไปแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ยกเป็นเหตุกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ลดลงจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรแก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นต้นเหตุของการกระทำความผิดคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนจำเลยอื่นมาร่วมกระทำความผิด จึงไม่สมควรรอการลงโทษ จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดอาญาอื่นอีก 2 คดี เป็นคดีความผิดต่อร่างกายตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3449/2544 ของศาลชั้นต้น และความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3467/2544 ของศาลชั้นต้นในระหว่างที่คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายและไม่เกรงกลัวโทษที่อาจได้รับจากการกระทำความผิด จึงไม่สมควรรอการลงโทษ สำหรับจำเลยที่ 3 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตั้งแต่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นและยังอยู่ในสมณเพศขณะยื่นฎีกา ส่วนจำเลยที่ 6 ได้รับโทษจำคุกเพียง 3 เดือน และยังมีอายุน้อยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนทั้งไม่ปรากฏว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างอื่น ศาลฎีกาเห็นควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 6 ในข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำผิดซึ่งโจทก์มีคำขอให้ริบ แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยและมิได้สั่งริบ ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกของจำเลยที่ 3 และที่ 6 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share