แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97ฯ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 6 (1) และมาตรา 11 (4) แห่ง พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2539 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวจึงมีผลบังคับใช้
คำฟ้องของโจทก์ในข้อ ก. กล่าวว่า จำเลยมีไว้เพื่อขายซึ่งเฟนเตอมีนอันเป็นวัถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97ฯ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยได้ทราบประกาศนี้แล้ว และจำเลยได้พยายามนำเฟนเตอมีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรไทย เพื่อไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการบรรยายฟ้องที่ยืนยันว่าจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้ว แม้ท้ายฟ้องหรือในการพิจารณาโจทก์มิได้นำส่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว ก็หาทำให้การฟ้องและการดำเนินคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 16, 62, 89, 90, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 16 วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 90, 106 (ที่ถูกวรรคหนึ่งและวรรคสอง) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี (ที่ถูกจำคุก 8 ปี) และฐานมีไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คงจำคุก 6 ปี และฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 คงจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 7 ปี ริบเฟนเตอมีนและไดอาซีแพมของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 90, 106 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ซึ่งเท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ของกลางไม่ใช่ของจำเลย แต่เป็นของหญิงชาวเกาหลีฝากจำเลยนำไปให้เพื่อนที่สนามบินอินซอนกรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยจำเลยไม่ทราบว่าเป็นสิ่งของผิดกฎหมายนั้นเป็นการฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการรับรองหรืออนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายและในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เท่านั้น
สำหรับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ไม่อาจลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 6 (1) และมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2539 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวจึงมีผลบังคับใช้ มิใช่ไม่มีผลบังคับดังที่จำเลยฎีกาแต่ประการใด
ส่วนความผิดฐานมีไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 นั้น พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามยาเสพติด สำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร ตรวจค้นพบเฟนเตอมีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 8,000 แคปซูล น้ำหนัก 3 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ในช่องของเสื้อกั๊กที่จัดทำไว้เป็นพิเศษที่จำเลยสวมอยู่ และในกล่องกระดาษยี่ห้อไมโลในกระเป๋าเดินทางของจำเลยในขณะที่จำเลยกำลังจะเดินทางโดยทางเครื่องบินโดยสารสายการบินเอเชียน่าแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่โอแซด 342 ออกจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ที่จำเลยฎีกาว่า เฟนเตอมีนของกลางไม่ใช่เป็นของจำเลย แต่หญิงชาวเกาหลีใต้ฝากไปให้เพื่อนที่สนามบินอินซอน กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และจำเลยไม่ทราบว่าของที่รับฝากเป็นสิ่งของผิดกฎหมายนั้น ปรากฏว่าของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนไว้ในเสื้อกั๊ก ซึ่งตามภาพถ่ายหมาย จ.4 เสื้อกั๊กดังกล่าวเป็นผ้าสีชมพูตัดเย็บเป็นเสื้อโดยเย็บเป็นช่อง ๆ หลายช่องสำหรับใช้บรรจุเฟนเตอมีน จำเลยสวมเสื้อกั๊กแล้วสวมเสื้อคลุมสีแดงทับเสื้อกั๊กอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นเสื้อกั๊กได้ ส่วนกล่องกระดาษยี่ห้อไมโลที่บรรจุเฟนเตอมีนไว้อีกบางส่วนก็อยู่ในกระเป๋าเดินทางของจำเลย ดังนี้ แสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าวัตถุออกฤทธิ์ของกลางเป็นสิ่งของผิดกฎหมายเพราะมิฉะนั้นจำเลยก็คงจะไม่ซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิดเช่นนั้น ที่จำเลยนำสืบว่า หญิงคนที่ฝากของให้จำเลยสวมเสื้อกั๊ก จำเลยคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยวอาจสวมเสื้ออย่างนี้ก็ได้ จำเลยออกจากที่พักเป็นเวลาสายแล้ว จึงรีบ ๆ ไม่ได้ดูว่าเสื้อกั๊กจะทำเป็นช่อง ๆ ไว้หรือไม่ และยังรับฝากกล่องซึ่งจำเลยคิดว่าเป็นขนม เนื่องจากหญิงคนดังกล่าวบอกว่าเป็นขนม จำเลยไม่ทราบว่ามีเฟนเตอมีนซุกซ่อนอยู่ในเสื้อกั๊กและกล่องกระดาษดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจรับฟังได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยมีเฟนเตอมีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 8,000 แคปซูล น้ำหนัก 3 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่าในทางพิจารณาและหรือท้ายฟ้องโจทก์โจทก์มิได้นำส่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ใช้เพื่อบังคับให้จำเลยต้องรู้และรับโทษหนักขึ้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ในข้อ ก. กล่าวว่า จำเลยมีไว้เพื่อขายซึ่งเฟนเตอมีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์และบัญชีท้ายประกาศดังกล่าว ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยได้ทราบประกาศนี้แล้ว และจำเลยได้พยายามนำเฟนเตอมีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรไทยเพื่อไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ยืนยันว่าจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้ว ดังนั้น แม้ท้ายฟ้องหรือในการพิจารณาโจทก์มิได้นำส่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว ก็หาทำให้การฟ้องและการดำเนินคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นจำนวนมาก พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่เห็นสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจวางโทษจำคุกจำเลยมานั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน