คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1576/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 15 ปี และลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๙๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๕ ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๑๐ ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ รวมจำคุก ๑๕ ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑๐ ปี และให้คืนธนบัตรจำนวน ๑๐๐ บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ กระทงละ ๕ ปี รวมจำคุก ๑๐ ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ รวมจำคุก ๑๕ ปี และลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑๐ ปี เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน ๕ ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าศาลลงโทษจำคุกจำเลยหนักเกินไป ขอให้ลดโทษแก่จำเลย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาล ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย

Share