คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 611/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯและตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539)ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น โจทก์ไม่จำต้องแนบประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวมาพร้อมกับคำฟ้อง เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบรายละเอียดในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539)ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2539และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกระทรวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมาย และเมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การว่าทราบคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้วขอให้การรับสารภาพ จึงถือว่าจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้วจำเลยไม่อาจแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้
จำเลยให้การรับสารภาพว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามฟ้อง ทั้งยังแถลงรับว่าร้อยตำรวจโท ว. เป็นผู้ตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลางและของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯจริง ดังนั้น ข้ออ้างที่จำเลยฎีกาว่าของกลางมิใช่เมทแอมเฟตามีนจึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพโดยมิได้โต้แย้งมาก่อน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ จำเลยจะโต้เถียงเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ของกลางหรือโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องอีกหาได้ไม่ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15และแม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด น้ำหนัก0.45 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด ไม่ปรากฏน้ำหนัก อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 500 บาทอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด และธนบัตรรวมเป็นเงิน 500 บาทเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งให้เรียงกระทงลงโทษฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี ริบของกลางคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด พร้อมธนบัตรของกลางจำนวน500 บาท ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่แนบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) มาพร้อมคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โจทก์ไม่จำต้องแนบประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวมาพร้อมกับคำฟ้องเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบรายละเอียดในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยได้ทราบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539)แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ทราบถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้นั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2539 และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมายเมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การว่าได้ทราบคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้วขอให้การรับสารภาพ ดังปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2543 ถือได้ว่าจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่อาจแก้ตัวได้ว่า ไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นที่จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า การตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลางในคดีนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการตรวจพิสูจน์โดยชอบ ผลการตรวจพิสูจน์จึงยังไม่อาจรับฟังว่าของกลางเป็นเมทแอมเฟตามีนและจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโดยฎีกาอ้างว่าจำเลยนำเสื้อผ้าของบุตรชายมาสวมใส่ ไม่ทราบว่ามีเมทแอมเฟตามีนอยู่ในกระเป๋าเสื้อ จำเลยไม่รู้จักเมทแอมเฟตามีนมาก่อน จำเลยพักอาศัยอยู่กลางทุ่งห่างไกลความเจริญไม่สามารถจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนได้ เจ้าพนักงานตำรวจสร้างหลักฐานเท็จนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและไม่เคยโต้แย้งมาก่อนว่าของกลางตามฟ้องมิใช่เมทแอมเฟตามีน ทั้งยังแถลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 12กันยายน 2543 ยอมรับว่าร้อยตำรวจโทวชิระ ละเอียดศิลป์เป็นผู้ตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลางจริง และของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จริง ข้ออ้างของจำเลยจึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพโดยมิได้โต้แย้งมาก่อนข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยจะโต้เถียงในชั้นฎีกาเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลางหรือโต้แย้งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องอีกหาได้ไม่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพไปแล้วแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ก็ตามก็เป็นการไม่ชอบและถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และแม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share