คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8491/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างในหมวดสวัสดิการกำหนดว่า นายจ้างจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารแก่พนักงานทุกคนที่เป็นพนักงานประจำตามสภาพการจ้าง ยกเว้นพนักงานทดลองงานและพนักงานระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไปจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือค่าอาหารนั้น เดิมนายจ้างเคยมอบคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างคนละ 1 ใบ ต่อวัน เป็นมูลค่าวันละ 5 บาท และปี 2535 นายจ้างมอบกระดาษทิชชูให้แก่ลูกจ้างคนละ 2 ม้วน ต่อเดือน แสดงให้เห็นว่านายจ้างมีเจตนาแต่แรกที่จะให้ค่าอาหารเป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือพนักงานประจำยกเว้นพนักงานทดลองงานและพนักงานระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป จึงกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวดสวัสดิการ และเห็นเจตนาชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อระยะแรกนายจ้างจ่ายค่าอาหารในรูปคูปองและจ่ายกระดาษทิชชูให้ลูกจ้าง แม้ต่อมานายจ้างเปลี่ยนการจ่ายค่าอาหารในรูปคูปองและการจ่ายกระดาษทิชชูมาเป็นตัวเงิน โดยจ่ายให้พนักงานที่มีสิทธิได้รับทุกคนเป็นประจำทุกเดือนและไม่มีเงื่อนไขว่าพนักงานจะขาดลามาสายหรือไม่ ก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติของบริษัทนายจ้างเท่านั้น มิได้แสดงว่าเมื่อนายจ้างเปลี่ยนการให้สวัสดิการจากรูปแบบอื่นมาเป็นตัวเงินแล้วจะทำให้สวัสดิการดังกล่าวกลายเป็นค่าจ้าง สวัสดิการจึงเป็นตัวเงินได้ ไม่จำต้องเป็นแต่สิ่งของหรือบริการที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง ดังนั้นเงินค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างประจำทุกเดือนจึงเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่ 1/2553 ลงวันที่ 5 มกราคม 2553 และให้ถือว่า เงินค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูเป็นค่าจ้าง และเมื่อนำมารวมกับค่าจ้างปกติที่ลูกจ้างได้รับรวมเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และดอกเบี้ยตามคำร้องแล้ว โจทก์จะได้รับค่าล่วงเวลา 1.5 เท่า หรือ 150 เปอร์เซ็นต์ ของงวดวันที่ 21/02/2008 ถึง 20/09/2009 เป็นเงิน 857.04 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 1 เท่า หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ ของงวดวันที่ 21/02/2008 ถึง 20/09/2009 เป็นเงิน 439.06 บาท และค่าล่วงเวลาในวันหยุด 3 เท่า หรือ 300 เปอร์เซ็นต์ ของงวดวันที่ 21/02/2008 ถึง 20/09/2009 เป็นเงิน 441.13 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทมิซึกิ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายจ้างได้รับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2531 เดิมบริษัทนายจ้างมอบคูปองเป็นค่าอาหารให้ลูกจ้างวันละใบมูลค่า 5 บาท และปี 2535 มอบกระดาษทิชชูให้ลูกจ้างคนละ 2 ม้วนต่อเดือน ปัจจุบันนายจ้างจ่ายค่าอาหารให้ลูกจ้างคนละ 700 บาท และค่ากระดาษทิชชู อีกคนละ 10 บาทต่อเดือน โจทก์เคยนำค่าอาหารรวมกับค่าจ้างเป็นฐานคำนวณเงินประกันสังคมที่นายจ้างเก็บจากลูกจ้างนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีมีหนังสือแนะนำนายจ้างไม่ต้องนำเงินค่าอาหารมาคำนวณเป็นค่าจ้างเพื่อส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม บริษัทนายจ้างมีระเบียบข้อบังคับการทำงานใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2541 ถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้เงินค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูเป็นสวัสดิการไว้ในหมวด 12 สวัสดิการ ข้อ 12.1 ถึง 12.10 แล้ววินิจฉัยว่าเงินค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูไม่เป็นค่าจ้าง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูที่บริษัทนายจ้างจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนเป็นค่าจ้างหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าสวัสดิการหมายถึงสิ่งของไม่ใช่ตัวเงินซึ่งสอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 ที่ล้วนแต่เป็นสิ่งของไม่ใช่ตัวเงิน ทั้งเงินค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูบริษัทนายจ้างให้โจทก์เป็นจำนวนที่แน่นอน ขาดลามาสายไม่หักเงินดังกล่าว ค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูจึงเป็นค่าจ้าง เห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัทนายจ้างกำหนดเรื่องการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างไว้ในหมวดที่ 12 ประกอบด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี การบริการข้าวสวย การบริการรับ – ส่งพนักงาน เงินค่าอาหาร การเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลของบริษัทนายจ้าง การประกันภัยหมู่ เงินช่วยเหลือค่าทำศพ เครื่องแบบพนักงานและอุปกรณ์ในการทำงาน การเบิกค่ารักษาพยาบาลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับเงินค่าอาหารกำหนดไว้ว่า บริษัทนายจ้างจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารแก่พนักงานทุกคนที่เป็นพนักงานประจำของบริษัทตามสภาพการจ้าง ยกเว้นพนักงานทดลองงานและพนักงานระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไปจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือค่าอาหาร ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่า เดิมบริษัทนายจ้างมอบคูปองค่าอาหารให้ลูกจ้างวันละใบมูลค่า 5 บาท และต่อมาปี 2535 บริษัทนายจ้างมอบกระดาษทิชชูให้ลูกจ้างคนละ 2 ม้วนต่อเดือน ย่อมแสดงให้เห็นว่า บริษัทนายจ้างมีเจตนาแต่แรกที่จะให้ค่าอาหารเป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือพนักงานประจำยกเว้นพนักงานทดลองงานและพนักงานระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป จึงกำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับการทำงานในหมวดสวัสดิการ และเห็นเจตนาชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อระยะแรกบริษัทนายจ้างจ่ายค่าอาหารเป็นคูปองและจ่ายกระดาษทิชชูให้ลูกจ้าง แม้ต่อมาบริษัทนายจ้างจะเปลี่ยนการจ่ายค่าอาหารเป็นคูปองและการจ่ายกระดาษทิชชูมาเป็นตัวเงินโดยจ่ายให้พนักงานที่มีสิทธิได้รับทุกคนเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่มีเงื่อนไขว่าพนักงานจะขาดลามาสายหรือไม่ ก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติของบริษัทนายจ้างเท่านั้น มิได้แสดงว่าเมื่อบริษัทนายจ้างเปลี่ยนการให้สวัสดิการจากรูปแบบอื่นมาเป็นตัวเงินจะทำให้สวัสดิการดังกล่าวกลายเป็นค่าจ้าง สวัสดิการจึงเป็นตัวเงินได้ ไม่จำต้องเป็นแต่สิ่งของหรือบริการที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง ดังนั้นเงินค่าอาหารเดือนละ 700 บาท และค่ากระดาษทิชชูเดือนละ 10 บาท ที่บริษัทนายจ้างจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนจึงเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share