คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องของโจทก์มิได้อ้างมาตรา แม้จะกล่าวว่าการกระทำของจำเลยเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกไปเสียให้พ้นจากอำนาจศาลเพื่อประวิงหรือขัดขวางแก่การบังคับตามคำบังคับของศาลอันมีลักษณะคล้ายกับเป็นการร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 ก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้ขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตาม มาตรา254(1)(2) หรือ (3) โดยโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา อันเป็นการขอตาม มาตรา 264การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องของโจทก์เป็นการร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องตาม มาตรา 264จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ให้คืนค่าเช่าและผลประโยชน์ที่เก็บจากกองมรดก กับคืนเงินที่เหลือจากการจัดการมรดกแก่โจทก์ และยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการเก็บผลประโยชน์ที่เกิดแก่ทรัพย์มรดก ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดเก็บผลประโยชน์เข้ากองมรดก ม.จ.หญิงวิมลปทัมราช จิรประวัติ ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยให้โจทก์ทั้งสองนำเงินผลประโยชน์รวมไว้ในกองมรดกและทำบัญชีรับจ่ายส่งศาลทุกเดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า โจทก์ร้องขอตามมาตรา 264 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่าตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2524 มิได้อ้างมาตราในคำร้อง แม้ในคำร้องบางตอนจะกล่าวว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกไปเสียให้พ้นจากอำนาจศาล เพื่อประวิงหรือขัดขวางแก่การบังคับตามคำบังคับของศาล อันมีลักษณะคล้ายกับเป็นการร้องขอตามมาตรา 254 ก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้ขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 254(1) (2) หรือ (3) โดยโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ ในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาอันเป็นการขอตามมาตรา 264 ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องของโจทก์เป็นการร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

สำหรับปัญหาที่ว่า มีเหตุผลสมควรจะแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดเก็บผลประโยชน์ในกองทรัพย์มรดกของหม่อมเจ้าหญิงวิมลปทัมราชจิรประวัติ หรือไม่นั้น ตามคำร้องของโจทก์อ้างเหตุผลสำคัญสองประการคือประการที่หนึ่งโจทก์อ้างว่าทรัพย์มรดกรายนี้ไม่มีผู้จัดการมรดก และไม่มีผู้จัดการเก็บผลประโยชน์ ประการที่สอง โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เข้าเก็บผลประโยชน์บางส่วนในกองมรดกเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว

สำหรับข้ออ้างที่ว่า ไม่มีผู้จัดการมรดกนั้น เห็นว่าการที่ไม่มีผู้จัดการมรดกก็เพราะโจทก์เองเป็นฝ่ายขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงได้ขอลาออก สำหรับเหตุที่โจทก์ขอให้ถอดถอนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นปรากฏในคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า เพราะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ละเลยต่อหน้าที่ไม่จัดการแบ่งทรัพย์มรดก ก็ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 เองว่าเหตุที่แบ่งกันไม่ได้หาใช่เพราะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ละเลยต่อหน้าที่ไม่แต่เป็นเพราะหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดิ์ไม่ยินยอมซึ่งจะต้องฟ้องหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดิ์ และบรรดาทายาทก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฟ้องหม่อมเจ้าหญิงนิวาศสวัสดิ์นี้หรือไม่ ส่วนในข้อที่อ้างว่าไม่มีผู้จัดการเก็บผลประโยชน์นั้น ก็ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 อีกเช่นกันว่าระยะหลังจากที่ไม่มีผู้จัดการมรดกแล้ว นายขวัญชัยซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บผลประโยชน์มาแต่เดิม ก็ยังคงเป็นผู้เก็บผลประโยชน์ต่อมา อันเป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 ถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว นายขวัญชัยซึ่งเป็นผู้เก็บผลประโยชน์มาตั้งแต่ต้นก็ยังคงเป็นผู้เก็บนำเข้ากองกลางอยู่ หาใช่ไม่มีคนเก็บผลประโยชน์กองทรัพย์มรดกอย่างที่โจทก์อ้างไม่

ส่วนเหตุผลในข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เข้าเก็บผลประโยชน์บางส่วนจากกองมรดกและนำเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวนั้น แม้จะเป็นความจริง แต่ก็เป็นเพราะโจทก์ขอให้ถอดถอนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยปราศจากเหตุผลที่สมควรดังวินิจฉัยมาแล้ว จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ขอลาออก ทำให้กองมรดกไม่มีผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงได้เข้าเก็บผลประโยชน์เฉพาะส่วนซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าได้ตกลงแบ่งกันเป็นส่วนสัดแล้วเท่านั้น จำเลยทั้งสองหาได้เข้าเก็บผลประโยชน์ในกองมรดกทั้งหมดหรือส่วนที่อ้างว่าเป็นของโจทก์ทั้งสองไม่ทั้งการที่จำเลยทั้งสองเข้าเก็บผลประโยชน์ในส่วนที่อ้างว่าเป็นของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ก็ได้กระทำโดยเปิดเผย โดยแจ้งให้จำเลยที่ 3 ผู้จัดการมรดกที่ขอลาออกทราบแล้ว ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3

จากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา การที่ศาลล่างมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเข้าเป็นผู้เก็บผลประโยชน์ในกองทรัพย์มรดกทั้งหมด รวมตลอดจนให้มีอำนาจเรียกผู้เช่ามาทำสัญญาเช่าใหม่ เท่ากับเป็นการให้โจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งเป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่งจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share