คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8609/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกษม หาใช่พนักงานองค์การตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 100 ไม่ หากแต่จำเลยที่ 1 มีสถานะเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น อันต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ แต่ยังคงปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 100, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2522 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 18 ปี และปรับคนละ 900,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 54 ปี และปรับ 2,700,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แต่จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปเกือบหมดแล้วจึงลดโทษให้เพียงหนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 36 ปี และปรับ 1,800,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 12 ปี ปรับคนละ 600,000 บาท ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ที่โจทก์ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น เห็นว่า รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นเพียงยานพาหานะที่จำเลยทั้งสามใช้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 จึงไม่อาจริบได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 48 ปี และปรับ 360,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 16 ปี ปรับคนละ 120,000 บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 32 ปี ปรับ 240,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 10 ปี 8 เดือน ปรับคนละ 80,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานองค์การซึ่งจะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 บัญญัติว่า “กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือร่วมมือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกษม อำเภอทุ่งศรีอดม จังหวัดอุบลราชธานี จึงหาใช่พนักงานองค์การตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ หากแต่จำเลยที่ 1 มีสถานะเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น อันต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งบัญญัติว่า “กรรมการหรืออนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล หรือสภาท้องถิ่นอื่น ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกระทำความผิดตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ยังคงปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสามเท่าตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยทั้งสามเบาไปนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 และกำหนดโทษจำเลยทั้งสามเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี จึงเป็นกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ทั้งยังคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ดีเมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับโทษปรับว่ามีความเหมาะสมเพียงใด เห็นว่า ขณะจำเลยทั้งสามกระทำความผิด ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ดังนั้น ในกรณีของจำเลยทั้งสามเมื่อลงโทษจำคุกแล้วไม่สมควรลงโทษปรับด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยทั้งสามด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับจำเลยทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share