แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรม หรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” ซึ่งความหมายของผู้ประกอบการค้า นอกจากเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าโดยทำการซื้อขายสินค้าแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระเพื่อหวังผลกำไรในทางการค้าด้วย โจทก์เป็นองค์การของรัฐจัดตั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร ฯลฯ ทั้งการซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถจำนำข้าวได้ในราคาสูง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อีกทางหนึ่งก็คงเป็นเพราะเพื่อลดภาระในการดูแลรักษาข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ซึ่งฝากไว้ในโกดังเก็บข้าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 โดยให้จำเลยที่ 1 สามารถขายข้าวเปลือกดังกล่าวไปได้ ดังนั้นการขายข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิได้มุ่งหวังกำไรเพื่อหารายได้เข้ารัฐ โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าในอันที่จะนำอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มาใช้บังคับ เมื่อกรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ
คดีอาญาเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฐานยักยอกทรัพย์คือข้าวเปลือกที่จำเลยทั้งสองรับฝากไว้ตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซื้อข้าวเปลือกจากโจทก์และยังคงค้างชำระราคาข้าวเปลือก จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระราคาข้าวเปลือกที่ยังคงค้างชำระแก่โจทก์ อันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับในคดีอาญาและคดีนี้เป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องผิดสัญญา การโต้แย้งสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลเป็นเรื่องของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจอาศัยสิทธิในเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ เพราะมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 50,872,047.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 48,433,771.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ใช้เงิน 3,621,680 บาท แก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ให้ตกเป็นพับ ให้โจทก์ชำระเงิน 3,621,680 บาท แก่จำเลยทั้งสอง กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองในส่วนฟ้องแย้ง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน48,433,771.65 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 21 มีนาคม 2556) ต้องไม่เกิน 2,438,275.49 บาท ตามที่โจทก์ขอมาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าข้าวและโรงสี โจทก์ได้รับนโยบายจากคณะกรรมการข้าวแห่งชาติเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) ในการรับจำนำข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ของรัฐบาล จึงประกาศรับสมัครโรงสีเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากโจทก์ไม่มีสินค้าและโรงสีของตนเอง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2549 จำเลยทั้งสองเข้าร่วมโครงการกับโจทก์ ตามสำเนาสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว จำเลยทั้งสองรับฝากเก็บข้าวเปลือกหอมมะลิและแปรสภาพเป็นข้าวสารให้โจทก์ตามสัญญา จนกระทั่งมีข้าวเปลือกหอมมะลิเหลืออยู่ 7,916.259199 ตัน ต่อมาโจทก์ได้รับนโยบายจากคณะกรรมการข้าวแห่งชาติเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายข้าวที่รับจำนำไว้ได้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ซึ่งเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฝากเก็บฯ ดังกล่าว จำนวน 7,916.259199 ตัน ราคาตันละ 9,150 บาท มูลค่ารวม 72,433,771.67 บาท ตามสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องเริ่มรับมอบและขนย้ายข้าวเปลือกภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ชำระเงินตามสัญญา และต้องชำระเงินกับขนย้ายข้าวเปลือกทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2549 ในกรณีของจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายข้าวเปลือกปริมาณส่วนที่เกิน 5,000 ตัน แต่ไม่เกิน 20,000 ตัน ต้องรับมอบข้าวเปลือกภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา ในการทำสัญญาจำเลยทั้งสองนำหนังสือค้ำประกันธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประโคนชัย เลขที่ 49-42-0054-6 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 จำนวนเงิน 3,621,680 บาท และเงินอีก 20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,621,700 บาท มอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาข้อ 5 หลังจากทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองได้รับมอบข้าวเปลือกไปครบจำนวนแล้วและชำระหนี้ค่าข้าวเปลือกให้โจทก์หลายครั้ง โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีก โดยยังค้างชำระหนี้ค่าข้าวเปลือก 5,293.308377 ตัน เป็นเงิน 48,433,771.65 บาท วันที่ 14 มิถุนายน 2555 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายและค่าปรับตามสัญญาซื้อขาย ตามหนังสือที่ อคส.1050/3695 วันที่ 17 กันยายน 2555 โจทก์มีหนังสือถึงธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประโคนชัย ให้ชำระหนี้ตามภาระค้ำประกัน ตามหนังสือที่ อคส.1050/5275 ต่อมาธนาคารได้โอนเงิน3,621,680 บาท ให้โจทก์โดยวิธีตัดจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ตามการ์ดบัญชี วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ของผู้อื่น ตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3689/2555 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหาย และพนักงานอัยการในคดีดังกล่าวมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนข้าวเปลือกหอมมะลิหรือใช้ราคาเปลือกหอมมะลิที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 95,104,885.40 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรส่วนจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และประกอบกิจการโรงสี จำเลยทั้งสองเข้าทำสัญญาซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิกับโจทก์ ตามสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิการซื้อขายข้าวเปลือกดังกล่าวเป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์แห่งกิจการหรือการงานของโจทก์และจำเลยทั้งสอง ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้นั่นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และมาตรา193/33 (5) การที่โจทก์ได้ผ่อนปรนและขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสองสามารถแบ่งชำระได้ไม่เกิน 4 งวด งวดละไม่เกิน 30 วัน โดยขยายระยะเวลาให้ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2550 ตามสำเนาบันทึกข้อความและหนังสือ จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ครบถ้วน และจำเลยทั้งสองชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 โดยยังค้างชำระหนี้ข้าวเปลือกจำนวน 5,293.308377 ตัน คิดเป็นเงินจำนวน 48,433,771.65 บาท โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2550 และเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองได้ตามข้อ 7 ของสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการจนกระทั่งถึงวันฟ้องจึงเกินกำหนดอายุความ 5 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำหรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” ซึ่งความหมายของผู้ประกอบการค้า นอกจากเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าโดยทำการซื้อขายสินค้าแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระเพื่อหวังผลกำไรในทางการค้าด้วย นอกจากนี้โจทก์เป็นองค์การของรัฐจัดตั้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร ฯลฯ ทั้งการซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถจำนำข้าวได้ในราคาสูง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อีกทางหนึ่งก็คงเป็นเพราะเพื่อลดภาระในการดูแลรักษาข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ซึ่งฝากไว้ในโกดังเก็บข้าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 โดยให้จำเลยที่ 1 สามารถขายข้าวเปลือกดังกล่าวไปได้ ดังนั้นการขายข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิได้มุ่งหวังกำไรเพื่อหารายได้เข้ารัฐ โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าในอันที่จะนำอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) มาใช้บังคับ เมื่อกรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มาใช้บังคับ โจทก์ได้ผ่อนปรนและขยายเวลาการชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสองจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2550 ตามหนังสือการขยายเวลาการชำระเงินและรับมอบข้าวเปลือกหอมมะลิโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระราคาข้าวเปลือกให้แก่โจทก์เรื่อยมา โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 และยังคงค้างชำระราคาข้าวเปลือกจำนวน 5,293.308377 ตัน คิดเป็นเงินจำนวน 48,433,771.65 บาท ดังนี้ นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2550 โจทก์ย่อมมีสิทธิทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ราคาข้าวเปลือกที่ยังค้างชำระ โดยกำหนดเวลาตามสมควรให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาไปคราวเดียวกัน นับแต่นั้นโจทก์จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ราคาข้าวเปลือกจำนวน 48,433,771.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดให้แก่โจทก์ โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 48,433,771.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ราคาข้าวเปลือกค้างชำระจนถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3689/2555 หมายเลขแดงที่ 468/2556 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 3689/2555 หมายเลขแดงที่468/2556 เป็นเรื่องที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฐานยักยอกทรัพย์คือข้าวเปลือกหอมมะลิที่จำเลยทั้งสองรับฝากไว้ตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากโจทก์ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2548/2549 และยังคงค้างชำระราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ยังคงค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ อันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3689/2555หมายเลขแดงที่ 468/2556 ของศาลชั้นต้น และคดีนี้เป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องผิดสัญญา การโต้แย้งสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลเป็นเรื่องของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจอาศัยสิทธิในเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายข้าวหอมมะลิโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 มาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ เพราะมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 20,000 บาท แทนโจทก์