คำวินิจฉัยที่ 26/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องของมหาวิทยาลัยเอกชน จำเลยที่ ๑ กับพวก กรณีมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี และมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดีโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ และโจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นอาจารย์ผู้สอน ต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นอธิการบดี มีอำนาจหน้าที่บริหารงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ โดยมีค่าตอบแทน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้าง อันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายแพ่งสัญญาจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ และการที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างโจทก์ก็เป็นเพียงการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินธุรกิจในการให้บริการด้านการศึกษาได้เท่านั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างเดือนสุดท้าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๕๗

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒

ศาลแรงงานภาค ๕
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานภาค ๕โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษดิ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยพายัพ ที่ ๑ นางเพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์ ที่ ๒ นายอำนวย ทะพิงค์แก ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแรงงานภาค ๕ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ เริ่มทำงานเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ตำแหน่งผู้สอน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดี มีวาระตำแหน่ง ๕ ปี และเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๓ สภามหาวิทยาลัยของจำเลยที่ ๑ มีมติเห็นชอบให้ต่อวาระการดำรงตำแหน่งของโจทก์อีกหนึ่งวาระ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ ถึง ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ แต่เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓ มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งจำเลยที่ ๑ กลับมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๓ ว่าอนุมัติให้ต่ออายุการทำงานให้แก่โจทก์เพียง ๑ ปี คือตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ ถึง ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ และเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๕ นายกสภามหาวิทยาลัยพายัพ จำเลยที่ ๓ ได้มีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ และมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้กระทำความผิด อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างเดือนสุดท้าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม เป็นเงิน ๑๕,๙๔๒,๖๕๖.๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มิใช่สัญญาจ้างแรงงาน แต่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของโดยเมื่อโจทก์เกษียณอายุงานตามสัญญาจ้าง จำเลยที่ ๑ จะประเมินศักยภาพของโจทก์ทุกปี หากโจทก์ผ่านการประเมินศักยภาพ จำเลยที่ ๑ จึงจะทำสัญญาจ้างกับโจทก์โดยมีกำหนดเวลา ๑ ปี เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ผ่านการประเมินโดยมติของสภามหาวิทยาลัย จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิที่จะไม่จ้างโจทก์ โดยหลังจากที่โจทก์เกษียณอายุงานแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้จ่ายเงินชดเชยจากการเกษียณอายุงานให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดให้แก่โจทก์ อนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ในคดีหมายเลขดำที่ ๘๘/๒๕๕๕ ขอให้เพิกถอนคำสั่งสภามหาวิทยาลัยพายัพที่ ๑/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่องการพ้นจากตำแหน่งอธิการบดี โดยโจทก์อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวออกโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๙๖ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองเชียงใหม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่ได้กระทำการใดๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานภาค ๕ พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นสถาบันการศึกษาเอกชน มิได้มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์เป็นอาจารย์ผู้สอนมาแต่เดิม ต่อมาจึงมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นอธิการบดี มีอำนาจหน้าที่บริหารงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ โดยมีค่าตอบแทน สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ ดังนั้น การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด อันเป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทั้งยังมีคำขอให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่าย รวมทั้งสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นกรณีการฟ้องเรียกร้องว่าจำเลยที่ ๑ รวมตลอดถึงจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจ้างแรงงาน แม้ตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญญัติว่า กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็เป็นเพียงการกำหนดไว้มิให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับเท่านั้น กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้จำเลยที่ ๑ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๙ วรรคสาม บัญญัติให้การจัดการศึกษาอบรมให้แก่ประชาชนเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐที่รัฐจะต้องจัดทำ รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชนจัดทำ และพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๘ บัญญัติให้สถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ และพระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้บัญญัติโครงสร้างและการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตลอดจนบทบัญญัติเกี่ยวกับปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะไว้ทำนองเดียวกันกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและอยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนการดำเนินงานหลายประการในทำนองเดียวกันกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองและให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายในการดำเนินกิจการดังกล่าว ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ประกอบกับพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดโครงสร้างการบริหารและการดำเนินงาน ตลอดจนการบริหารงานบุคคลของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในทำนองเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาเอกชนกับผู้ปฏิบัติงานในสถาบันต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ตลอดจนกฎกระทรวง ข้อบังคับและระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้และเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ อันเนื่องจากลักษณะหรือสภาพงานด้านการบริหารจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา มีลักษณะแตกต่างจากลักษณะการทำงานของลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานทั่วไป ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์ปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ผู้สอน โดยโจทก์มีหน้าที่ให้การศึกษาหรือทำการสอนแก่นักศึกษาในสังกัดของจำเลยที่ ๑ และการที่จำเลยที่ ๓ แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์มีหน้าที่บริหารกิจการของจำเลยที่ ๑ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด ระเบียบ และข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมทั้งนโยบายและมติของสภาสถาบันตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งการแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและการถอดถอนโจทก์ให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวต้องปฏิบัติตามมาตรา ๓๔ (๑๕) และ (๑๙) มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ มาตรา ๙๖ และมาตรา ๙๘ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์จึงอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ รวมทั้งกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับโจทก์ซึ่งเป็นเอกชนที่มีขึ้นเพื่อให้โจทก์เข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะด้านการศึกษากับจำเลยที่ ๑ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการศึกษาให้บรรลุผล อันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา ๕๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์เข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะทางด้านการศึกษาที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ตามกฎหมาย สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อจำเลยที่ ๑ บอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ โดยโจทก์มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าว กรณีจึงมีเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามกรณีจำเลยที่ ๓ มีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีของจำเลยที่ ๑ และมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๒ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี โดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิด อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างเดือนสุดท้าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า สัญญาจ้างฉบับพิพาทมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของ เนื่องจากโจทก์เกษียณอายุราชการแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงประเมินศักยภาพของโจทก์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่โจทก์ไม่ผ่านการประเมิน จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิที่จะไม่จ้างโจทก์ โดยจ่ายเงินชดเชยจากการเกษียณอายุงานให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า ไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ กรณีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่าสัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เห็นว่า คดีนี้ แม้จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ โดยมีความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษา โดยมีการกำกับ ติดตามประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ แต่โดยที่จำเลยที่ ๑ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ และโจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นอาจารย์ผู้สอน ต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นอธิการบดี มีอำนาจหน้าที่บริหารงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ โดยมีค่าตอบแทน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างนายจ้าง อันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายแพ่งสัญญาจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ และการที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างโจทก์ก็เป็นเพียงการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินธุรกิจในการให้บริการด้านการศึกษาได้เท่านั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างเดือนสุดท้าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษดิ์ โจทก์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่ ๑ นางเพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์ ที่ ๒ นายอำนวย ทะพิงค์แก ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share