คำวินิจฉัยที่ 13/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนว่า ผิดสัญญาจะโอนทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยโอนทะเบียนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์มาเป็นชื่อของโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งสัญญาดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้างว่า จะนำไปใช้ในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ ดังนั้น สัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์และสัญญาจะโอนทะเบียนรถยนต์ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๕๗

วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดพิจิตร
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพิจิตรส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ สำนักงานเทศบาลตำบลดงป่าคำ โดยนายสมศักดิ์ พรมชาติ ในฐานะนายกเทศมนตรี โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทจินดาทรัพย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยนายภูวดล จินดาจิธาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพิจิตร เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.๒๑๒/๒๕๕๕ ความว่า เมื่อปี ๒๕๕๒ โจทก์ได้จัดซื้อรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์เพื่อใช้ในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามมาตรา ๕๐ (๕) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์จึงได้ประกาศสอบราคาซื้อรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ จำนวน ๑ คัน และปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ชนะการสอบราคา โจทก์และจำเลยจึงได้ทำสัญญาซื้อขายเลขที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ตกลงซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ พร้อมปั๊มและอุปกรณ์ จำนวน ๑ คัน เป็นเงิน ๑,๙๘๗,๐๐๐ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ จำเลยได้ส่งมอบรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ยี่ห้อฮีโน่ จำนวน ๑ คัน พร้อมหนังสือรับรองการจดทะเบียนไม่เกิน ๓๐ วัน ให้แก่โจทก์ และโจทก์ชำระราคาให้กับจำเลยเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยมิได้ดำเนินการจดทะเบียนรถให้แก่โจทก์และขอผัดผ่อนเรื่อยมา และในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ จำเลยได้ทำสัญญาตกลงจะโอนทะเบียนรถดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ และตกลงว่าหากผิดสัญญาไม่ดำเนินการ โจทก์มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดี พร้อมทั้งเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ได้ และตกลงให้สัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายเลขที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เมื่อครบกำหนดจำเลยยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้กับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยโอนทะเบียนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์มาเป็นชื่อโจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวน ๑,๙๘๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากจำเลยได้ซื้อรถคันดังกล่าวมาจากบริษัทอีซูซุ นครราชสีมา จำกัด แล้วนำมาประกอบขายให้โจทก์ แต่บริษัทยังไม่ได้ส่งมอบคู่มือรายการจดทะเบียนรถยนต์และยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่ใช่ความผิดของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพิจิตรพิจารณาแล้วเห็นว่า ในคดีนี้แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และข้อพิพาทในคดีเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาในเรื่องจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์คันพิพาทเพื่อให้บริการสาธารณประโยชน์หรือบริการสาธารณะก็ตาม แต่ข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้โจทก์ และขอให้จำเลยกระทำการดังกล่าวและเรียกเอาค่าเสียหายหากฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายและสัญญาจะโอนทะเบียนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันในภายหลัง ซึ่งเป็นการดำเนินการอันสืบเนื่องจากธุรกิจหรือกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ทำกับโจทก์ในฐานะเสมอภาคเช่นเดียวกับเอกชนกับเอกชน โดยโจทก์มิได้ใช้อำนาจทางปกครอง ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครอง ตามความหมายของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา ๗๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตเทศบาล รวมทั้งการจัดให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง ตามมาตรา ๕๐ (๑) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ขนาดความจุ ๖,๐๐๐ ลิตร พร้อมปั๊มและอุปกรณ์ จำนวน ๑ คัน กับจำเลย ตามสัญญาเลขที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ โดยจำเลยได้ส่งมอบรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ยี่ห้อฮีโน่ จำนวน ๑ คัน ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และโจทก์ได้ชำระราคารถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ให้กับจำเลยเรียบร้อยแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาจะโอนทะเบียนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ กับจำเลย ซึ่งข้อ ๑ ของสัญญาดังกล่าวกำหนดว่า จำเลยตกลงที่จะโอนทะเบียนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ด้วย แต่เมื่อครบกำหนดเวลาจำเลยไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายเลขที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และสัญญาจะโอนทะเบียนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขาย จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตเทศบาลและจัดให้มีเครื่องดับเพลิงตามมาตรา ๕๐ (๑) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้ทำสัญญาซื้อรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์กับจำเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาหรือให้ได้มาซึ่งรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์สำหรับใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อันเป็นเครื่องมือสำคัญและจำเป็นในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจะโอนทะเบียนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ตามสัญญาเลขที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ โดยไม่ดำเนินการจดทะเบียนรถให้โจทก์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนทะเบียนรถดังกล่าวมาเป็นชื่อโจทก์และให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์จากจำเลย เพื่อใช้ในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง จำเลยได้ส่งมอบรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ พร้อมหนังสือรับรองการจดทะเบียนไม่เกิน ๓๐ วัน ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ชำระราคาให้กับจำเลยเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้ จำเลยจึงได้ทำสัญญาตกลงจะโอนทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนด และตกลงให้สัญญาฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขาย แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้กับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์มาเป็นชื่อโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากจำเลยได้ซื้อรถคันดังกล่าวมาจากบริษัทอีซูซุ นครราชสีมา จำกัด แล้วนำมาประกอบขายให้โจทก์ แต่บริษัทยังไม่ได้ส่งมอบคู่มือรายการจดทะเบียนและยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย ถือเป็นเหตุสุดวิสัย จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์และสัญญาจะโอนทะเบียนรถยนต์ระหว่างโจทก์และจำเลย ดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และตามมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้โจทก์เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตเทศบาล ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยผิดสัญญาจะโอนทะเบียนรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่า โจทก์จะนำรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ไปใช้ในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ ดังนั้น สัญญาซื้อขายรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์และสัญญาจะโอนทะเบียนรถยนต์ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสำนักงานเทศบาลตำบลดงป่าคำ โดยนายสมศักดิ์ พรมชาติ ในฐานะนายกเทศมนตรี โจทก์ บริษัทจินดาทรัพย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยนายภูวดล จินดาจิธาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share