คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 854/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 นั้น ต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนมีการโอน และการโอนเช่นนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆของจำเลยเสียเปรียบ เพราะการที่จำเลยนำทรัพย์เท่าที่มีไปชำระเจ้าหนี้คนใดโดยเฉพาะเป็นการให้เปรียบเจ้าหนี้คนนั้น และทำให้เจ้าหนี้คนอื่นเสียเปรียบ กฎหมายมุ่งคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ด้วยกันซึ่งเป็นหนี้อยู่ก่อนมิให้ได้เปรียบแก่กัน จำเลยโอนขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ช. ก่อนโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายไม่ถึง1 เดือน แม้จะเป็นการโอนตามสัญญาต่างตอบแทนซึ่งทำให้ ช.มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาขายฝากก็ตาม แต่เมื่อ ช. ผู้รับโอนมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยก่อนทำสัญญาขายฝาก และ ช.ผู้รับโอนเข้าทำสัญญากับจำเลยโดยไม่ทราบความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลย จึงเพิกถอนการโอนรายนี้ตามมาตรา 115 ไม่ได้พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และมาตรา 115ต่างก็มีวัตถุประสงค์คุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ต่างกันเพียงว่า ถ้าโอนภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย จำเลยมุ่งให้เจ้าหนี้เดิมคนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นแล้ว อาศัยเพียงความมุ่งหมายของจำเลยฝ่ายเดียวก็พอให้เพิกถอนได้โดยไม่ต้องให้เจ้าหนี้เดิมพิสูจน์ว่าตนสุจริตและมีค่าตอบแทน เพราะเจ้าหนี้เช่นนี้รู้หรือควรจะรู้แล้วถึงสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลย แต่ถ้าเป็นการโอนภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยผู้รับโอนซึ่งไม่เป็นเจ้าหนี้อยู่เดิมและโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ก็ยังเพิกถอนได้ตามมาตรา 114 ไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 115 ตรงกันข้าม ถ้าผู้รับโอนเช่นนี้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจะนำมาตรา 115 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะมิได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันมาก่อน อีกประการหนึ่งจะถือว่าผู้รับโอนได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่25 มีนาคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวโจทก์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยตกลงจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ศาลพิพากษาตามยอมแต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17884 และ 24862 ตำบลบางยี่ขันอำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 8/42 เมื่อโจทก์ขอบังคับคดีไม่สามารถบังคับคดีได้ โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยโดยทุจริตได้ยักย้ายทรัพย์สินขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่นายชายเดชเกรียงไกรกูล จึงขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการขายฝากรายนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งไม่เพิกถอนการขายฝาก โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น ขอให้กลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเพิกถอนการขายฝากรายนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอเพิกถอนในกรณีที่จำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น มีความหมายว่า การโอนทรัพย์นั้นต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว และการโอนเช่นนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยเสียเปรียบ เนื่องจากบรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นต่างก็จะไม่ได้รับชำระหนี้หรือไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนจากจำเลย เพราะสภาพการมีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งบรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นได้รับความเสียหายอยู่ก่อนแล้ว จากการที่ลูกหนี้มีทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สินซึ่งจะทำให้บรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นจะได้รับการชำระหนี้เพียงส่วนเฉลี่ยในทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น เมื่อจำเลยนำทรัพย์สินเท่าที่มีไปชำระให้เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะจึงเป็นการให้เปรียบแก่เจ้าหนี้คนนั้น และทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเพราะได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีโอกาสได้รับชำระโดยเฉลี่ยจากทรัพย์สินที่โอนไป กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ด้วยกันซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนมิให้ได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน และให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นการให้เปรียบเช่นนี้ได้ แต่กรณีการโอนตามสัญญาต่างตอบแทนในคดีนี้ผู้รับโอนมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อน ไม่มีปัญหาเรื่องผู้รับโอนจะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นหรือไม่ ผู้รับโอนเข้ามาทำสัญญากับจำเลยโดยไม่ทราบความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยหากจะถือว่าการโอนของจำเลยเป็นการให้เปรียบแก่ผู้รับโอนเหนือเจ้าหนี้ที่มีอยู่แล้ว ย่อมจะทำให้ผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนไม่รู้ถึงสภาพการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยต้องเสียหายไม่เป็นธรรมต่อผู้รับโอน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114และ 115 ยังคงคุ้มครองผู้สุจริตและมีค่าตอบแทนเช่นเดียวกันต่างกันแต่เพียงว่าถ้าโอนภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและจำเลยมุ่งให้เจ้าหนี้เดิมคนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นแล้วอาศัยเพียงความมุ่งหมายของจำเลยฝ่ายเดียวเป็นพอเพียงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิกถอนเสียได้โดยไม่ต้องให้เจ้าหนี้เดิมพิสูจน์ว่าตนสุจริตและมีค่าตอบแทนเพราะเจ้าหนี้เช่นนี้รู้หรือควรจะรู้อยู่แล้วถึงสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลย เจ้าหนี้เดิมที่รับโอนเช่นนี้จึงไม่ควรได้เปรียบเหนือเจ้าหนี้อื่น แต่ถ้าเป็นการโอนไปภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยโอนไปยังผู้รับโอนซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้อยู่เดิมและโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนแล้วก็ยังคงเพิกถอนเสียได้ตามมาตรา 114 เช่นเดิม ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 115 ตรงกันข้าม ถ้าผู้รับโอนเช่นนี้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจะนำมาตรา 115 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะมิได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันมาก่อนประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งจะถือว่าผู้รับโอนได้เปรียบเสียเปรียบเหนือเจ้าหนี้อื่นไม่ได้ ฉะนั้นจึงใช้มาตรา 115 มาเพิกถอนการโอนแก่ผู้รับโอนซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อนแล้วไม่ได้ แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่าผู้รับโอนได้รับซื้อฝากโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน กล่าวคือได้ความว่าจำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในวันที่26 กุมภาพันธ์ 2529 แต่จำเลยโอนบ้านและที่ดินให้ผู้รับโอนในวันที่25 กุมภาพันธ์ 2529 โดยไม่มีทรัพย์สินอื่น จึงเป็นการทำลงโดยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบก็ตามแต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าผู้รับโอนได้รู้เท่าถึงข้อความจริงที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ถือว่าผู้รับโอนรับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจึงไม่อาจเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 113 และมาตรา 114 ได้เช่นกัน
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share