คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71(2) บัญญัติว่า ถ้ามาถึงทางแยกทางร่วมพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยกผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน แต่แม้จะมีกฎหมายดังกล่าวซึ่งทำให้คนขับรถของจำเลยมีสิทธิขับรถผ่านสี่แยกไปก่อนได้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนขับรถของจำเลยมีสิทธิขับรถเข้าไปในสี่แยกโดยไม่คำนึงหรือไม่ระมัดระวังหรือไม่ดูว่ามียานพาหนะอื่นแล่นเข้ามาในสี่แยกหรือไม่ ที่เกิดเหตุเป็นสี่แยกมีทางเดินรถหลายช่องทางผู้ขับขี่ยวดยานทุกคนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าการขับไปตามถนนอย่างธรรมดา เมื่อพิจารณาภาพถ่ายความเสียหายเห็นได้ว่ารถยนต์ชนกันอย่างแรง ซึ่งก็ต้องเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงของคนขับรถของจำเลยนั้นเองด้วย การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความประมาท บทบัญญัติดังกล่าวมิได้คุ้มครองให้คนขับรถของจำเลยพ้นผิด แม้คนงานของโจทก์จะมีเงินเดือนประจำและมีงานทำเป็นปกติแต่เมื่อต้องทิ้งงานดังกล่าว มาทำงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของจำเลย โจทก์ก็ย่อมเรียกค่าแรงในการทำงานดังกล่าวได้.

ย่อยาว

คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษารวมกันมากับอีกคดีหนึ่งโดยเรียกโจทก์และจำเลยที่ 1 – ที่ 3 ในคดีนี้ตามเดิม เรียกโจทก์ในอีกคดีหนึ่งว่าจำเลยที่ 4 และเรียกจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ที่ 5 ในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 5 กับที่ 6 สำหรับคดีที่จำเลยที่ 4 ฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 6 ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โจทก์คดีนี้ฟ้องว่า ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 3 กับลูกจ้างของจำเลยที่ 5 ต่างขับรถยนต์ของนายจ้างในทางการที่จ้างโดยประมาทชนกันบริเวณสี่แยกบางกะปิ รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 เสียหลักชนเสาไฟฟ้าของโจทก์หัก อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 6 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 – ที่ 3 และที่ 5 ที่ 6 ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 – ที่ 3 ให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถของจำเลยที่ 5 ฝ่ายเดียว ค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถึงที่ฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ฝ่ายเดียว ค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถึงที่ฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4
จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 5 ที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่ารถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย เป็นของจำเลยที่ 3และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวขณะเกิดเหตุ รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลยที่ 5 และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 5 เป็นนายจ้างของคนขับรถยนต์คันดังกล่าวขณะเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2525 เวลา 5นาฬิกาเศษ รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัยบรรทุกโคแล่นมาตามถนนสุขาภิบาล 1 มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ ซึ่งต้องผ่านสี่แยกหน้าสำนักงานเขตบางกะปิ และรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร บรรทุกเสาเข็มแล่นมาตามถนนสุขาภิบาล 2 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งต้องผ่านสี่แยกหน้าสำนักงานเขตบางกะปิเช่นกัน เมื่อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันแล่นมาถึงสี่แยกดังกล่าว ได้ชนกันตรงกลางสี่แยก รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย พลิกคว่ำอยู่ตรงสี่แยกค่อนไปทางถนนลาดพร้าวซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร แล่นเลยไปชนเสาไฟฟ้าของโจทก์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าหักหม้อแปลงและอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395สุโขทัย มีรอยถูกชนที่บังโคลนหน้าด้านซ้าย รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานครมีรอยถูกชนที่บังโคลนหน้าด้านขวา ถนนสุขาภิบาล 1 และ 2 เป็นทางเอกด้วยกัน ประเด็นข้อแรก คนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัยประมาทฝ่ายเดียว โดยคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629กรุงเทพมหานคร ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 71(2) หรือไม่ บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า”ถ้ามาถึงทางแยกทางร่วมพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยกผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน…”ข้อเท็จจริงในคดีนี้แม้จะฟังได้ว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันมาถึงทางแยกพร้อมกัน คนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395สุโขทัย ต้องยอมให้รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ทางซ้ายผ่านไปก่อน การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวของคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย ที่ไม่ยอมให้รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานครผ่านไปก่อน จนเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกันตรงกลางสี่แยกนับว่าเป็นเหตุหนึ่งของความประมาทของคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัย แต่แม้จะมีกฎหมายดังกล่าวซึ่งทำให้คนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานครมีสิทธิขับรถผ่านสี่แยกไปก่อนได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร จะมีสิทธิขับรถเข้าไปในสี่แยกโดยไม่คำนึงหรือไม่ระมัดระวังหรือไม่ดูว่ามียานพาหนะอื่นแล่นเข้ามาในสี่แยกหรือไม่ ที่เกิดเหตุเป็นสี่แยกมีทางเดินรถหลายช่องทาง ผู้ขับขี่ยวดยานทุกคนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าการขับไปตามถนนอย่างธรรมดา การที่คนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร ขับรถเข้าไปในสี่แยกทั้ง ๆ ที่มีรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 04395 สุโขทัยแล่นเข้ามาพร้อมกันและตามภาพถ่ายความเสียหายเห็นได้ว่ารถยนต์ชนกันอย่างแรง ซึ่งก็ต้องเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงของคนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร นั้นเองด้วยการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความประมาท พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 71(2) ไม่ได้คุ้มครองให้คนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 82-2629 กรุงเทพมหานคร พ้นผิด
ประเด็นข้อสอง ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่าคนงานของโจทก์มีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว จึงเป็นการไม่ชอบที่โจทก์เรียกเอาค่าแรงอีกนั้น นายชลัตพยานโจทก์ผู้ซ่อมแซมความเสียหายรายนี้เบิกความว่า คนงานมีงานประจำ แต่ต้องทิ้งงานดังกล่าวและรีบมาทำงานนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คนงานของโจทก์จะมีเงินเดือนเป็นประจำ และมีงานทำเป็นปกติ แต่เมื่อต้องทิ้งงานดังกล่าวและมาทำงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของจำเลย โจทก์ก็ย่อมเรียกค่าแรงในการทำงานดังกล่าวได้
พิพากษายืน.

Share