แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การร้องขอเพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115นั้น ต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนมีการโอน และการโอนเช่นนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยเสียเปรียบ เพราะการที่จำเลยนำทรัพย์เท่าที่มีไปชำระเจ้าหนี้คนใดโดยเฉพาะเป็นการให้เปรียบเจ้าหนี้คนนั้น และทำให้เจ้าหนี้คนอื่นเสียเปรียบ กฎหมายมุ่งคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ด้วยกัน ซึ่งเป็นหนี้อยู่ก่อนมิให้ได้เปรียบแก่กัน จำเลยโอนขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ช.ก่อนโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายไม่ถึง 1 เดือน แม้จะเป็นการโอนตามสัญญาต่างตอบแทนซึ่งทำให้ช.มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาขายฝากก็ตาม แต่เมื่อ ช.ผู้รับโอนมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยก่อนทำสัญญาขายฝาก และ ช.ผู้รับโอนเข้าทำสัญญากับจำเลยโดยไม่ทราบความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลย จึงเพิกถอนการโอนรายนี้ตามมาตรา 115 ไม่ได้
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 และมาตรา 115 ต่างก็มีวัตถุประสงค์คุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ต่างกันเพียงว่า ถ้าโอนภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย จำเลยมุ่งให้เจ้าหนี้เดิมคนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นแล้ว อาศัยเพียงความมุ่งหมายของจำเลยฝ่ายเดียวก็พอให้เพิกถอนได้ โดยไม่ต้องให้เจ้าหนี้เดิมพิสูจน์ว่าตนสุจริตและมีค่าตอบแทน เพราะเจ้าหนี้เช่นนี้รู้หรือควรจะรู้แล้วถึงสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลย แต่ถ้าเป็นการโอนภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยผู้รับโอนซึ่งไม่เป็นเจ้าหนี้อยู่เดิมและโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ก็ยังเพิกถอนได้ตามมาตรา 114ไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 115 ตรงกันข้าม ถ้าผู้รับโอนเช่นนี้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจะนำมาตรา 115 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะมิได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันมาก่อน อีกประการหนึ่งจะถือว่าผู้รับโอนได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นไม่ได้
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2534)