แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสาม และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง”หมายความว่า การจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งนายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างนั้นการจ้างดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่มีลักษณะงานตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติข้างต้น ส่วนงานที่โจทก์ทำมิได้มีลักษณะงานประเภทใดประเภทหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 1 ปีตามสัญญาจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้ายเก้าสิบวัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่เป็นช่างน้ำมันกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน กำหนดระยะเวลาจ้าง1 ปี เมื่อครบกำหนดการจ้างจำเลยได้ต่อสัญญาไปอีก 9 เดือน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาอ้างว่าครบสัญญาจ้าง โดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเกิน 1 ปี แต่ไม่ครบ3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วันแต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยว่าจ้างโจทก์ทำหน้าที่เป็นช่างน้ำมันบนเรือเดินทะเลสองครั้ง โดยครั้งแรกประจำบนเรือพารินดา นารีมีกำหนดเวลา 12 เดือน โจทก์ลาหยุดพักงานแล้วไม่กลับมาทำงานอีกซึ่งถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว การจ้างงานครั้งที่สองประจำบนเรือโชลเนส ทำสัญญาจ้าง มีกำหนดเวลา 9 เดือน โดยโจทก์เริ่มทำงานจนกระทั่งครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา สัญญาทั้งสองฉบับแยกต่างหากจากกันเด็ดขาด สัญญาจ้างงานสำหรับคนประจำเรือจึงเป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวและเป็นธรรมเนียมที่กระทำกันเป็นสากลให้การจ้างคนเรือเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน จำเลยมิได้มีข้อผูกมัดใด ๆ ในสัญญาฉบับแรกที่จะต่อสัญญาฉบับที่สองกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 26พฤษภาคม 2540 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งช่างน้ำมันประจำเรือพารินดา นารี ของจำเลย กำหนดเวลา 12 เดือนระหว่างอายุสัญญา จำเลยขอให้ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่าจัดฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้แก่คนประจำเรือและเพื่อให้สอดคล้องกับกฎข้อบังคับขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ จำเลยได้ส่งคนงานรวมทั้งโจทก์เข้ารับการฝึกอบรมโดยออกค่าใช้จ่ายทางเครื่องบินให้หลังจากโจทก์ฝึกอบรมเสร็จแล้ว จำเลยไม่ได้รับโจทก์เข้าทำงานอีกจนกระทั่งครบกำหนดสัญญาและระหว่างนั้นจำเลยไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างใด ๆให้โจทก์ แล้ววินิจฉัยว่าระหว่างที่โจทก์เดินทางมารับการฝึกอบรมจนกระทั่งครบอายุสัญญาจ้าง โจทก์ยังมีสภาพเป็นลูกจ้างของจำเลยตลอดมา และถือว่าโจทก์ได้ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยครบ12 เดือน ตามสัญญาแล้วซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 118(2) (ที่ถูก ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(2)) กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ในอัตราไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายซึ่งตามสัญญาโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 45,000 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์จำนวน 45,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยสิ้นสุดตามกำหนดระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสาม และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง” เห็นว่า การจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งนายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างนั้น การจ้างดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีมีลักษณะงานตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติข้างต้นด้วย เช่นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานดังที่จำเลยให้การต่อสู้เป็นต้น แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยจะสิ้นสุดตามกำหนดระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่างานที่โจทก์ทำมีลักษณะงานประเภทใดประเภทหนึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่ อันจะเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีตามสัญญาจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันแก่โจทก์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(2) อุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน