คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม ก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม
แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง แต่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงและได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบิดาตลอดมา โดยจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการครอบครองที่ดินโดยชอบ กรณีเช่นนี้หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีสิทธิหรืออำนาจเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยพลการการที่จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินแล้วทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย จึงอาจมีมูลเป็นความผิดตามฟ้องได้ เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 ที่จะรับไว้ไต่สวนมูลฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 362, 365 (2) และ 358
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว ตามคำฟ้องเป็นเรื่องโต้แย้งกรรมสิทธิ์กันในทางแพ่งและที่ดินมีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ จึงไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม ฟ้องของโจทก์ได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นบทเบา แม้จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อคดีได้มาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่า คดีจำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาหรือไม่ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 พิจารณาแล้วโจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงบิดาโจทก์เป็นผู้ซื้อโดยใส่ชื่อจำเลยซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนตั้งแต่ปี 2512 และ 2521 แล้วบิดาโจทก์ครอบครองทำกินในที่ดินตลอดมาจนถึงปี 2533 ได้ยกที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องจากบิดาจนถึงปัจจุบัน เมื่อปี 2549 บิดาโจทก์และโจทก์ประสงค์ให้จำเลยเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินตามฟ้องเป็นชื่อโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยและยังฟ้องขับไล่บิดาโจทก์ออกจากที่ดินแปลงอื่นที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของแทนบิดาโจทก์อีกด้วย ต่อมาในวันเกิดเหตุจำเลยกับพวกรวม 4 คน บุกรุกเข้ามาในที่ดินดังกล่าวแล้วจำเลยใช้ให้พวก 3 คน ใช้จอบขุดยกผิวดินให้สูงขึ้น ขุดหลุมนำต้นไม้เข้ามาปลูกในที่ดินตามฟ้อง อันเป็นการรบกวนโต้แย้งสิทธิการครอบครองของโจทก์ และทำให้เกิดความเสียหายต่อผิวหน้าดินและที่ดินอันเป็นการทำให้เสียทรัพย์ เห็นว่า แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลง แต่เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงและได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบิดาตลอดมา โดยจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการครอบครองที่ดินโดยชอบ กรณีเช่นนี้หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีสิทธิหรืออำนาจเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยพลการ ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยมิได้ดำเนินการตามกฎหมายโต้แย้งสิทธิใดๆ ในที่ดินตามฟ้อง แต่กลับไปฟ้องขับไล่บิดาโจทก์ออกจากที่ดินแปลงอื่น แล้วในวันเกิดเหตุจำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินตามฟ้องและทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย อันเป็นการบรรยายฟ้องโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์อ้างจึงอาจมีมูลเป็นความผิดตามฟ้องได้ ซึ่งพิจารณาจากฟ้องเพียงลำพังยังไม่อาจทราบได้ว่ามีมูลความจริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ คดีจำต้องฟังพยานหลักฐานจากการไต่สวนมูลฟ้องก่อน ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องโดยไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share