แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. เมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2540 นับแต่วันดังกล่าวทายาทย่อมหมดอำนาจจัดการทรัพย์มรดกและกระทำนิติกรรมใด ๆ กับบุคคลภายนอกโจทก์เท่านั้นที่มีอำนาจรับชำระหนี้เงินกู้ยืมแทน ป. จำเลยโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยร่วมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540แม้จำเลยร่วมจะเป็นทายาทของ ป. ก็ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้แทน ป. ประกอบกับการโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมไม่มีการคิดเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งที่ดินในวันที่จดทะเบียนอันเป็นการส่งมอบ ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 วรรคหนึ่ง และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคท้ายจึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ระงับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินไปจากนายประเสริฐ นามเสนาะรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2537 เป็นเงิน 150,000 บาทครั้งที่สองเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2537 เป็นเงิน 130,000 บาททั้งสองครั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายและไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้คืน จำเลยได้รับเงินที่กู้ไปแล้ว หลังจากกู้ยืมไปแล้วจำเลยไม่เคยชำระหนี้และค้างชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันกู้ยืมเงินถึงวันฟ้องตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับแรกเป็นดอกเบี้ย 49,687.50 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับหลังเป็นดอกเบี้ย 40,625 บาท นายประเสริฐได้ถึงแก่ความตายไปแล้วจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 370,312.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 280,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน 80,000 บาทเศษให้นายประเสริฐและนางพิศมัย นามเสนาะ ไปแล้ว และจำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 18050 ให้นางพิสมัยภริยานายประเสริฐ เป็นการชำระหนี้ต้นเงินกู้ 280,000 บาท หนี้เงินกู้ตามฟ้องระงับแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางพิสมัยนามเสนาะ เข้าเป็นจำเลยร่วมเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ย ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยไม่เคยชำระหนี้ตามฟ้องให้จำเลยร่วมขอให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 370,312.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 280,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสำหรับจำเลยร่วมให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากนายประเสริฐ นามเสนาะ ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 จำเลยร่วมเป็นภริยาของนายประเสริฐ ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539 และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยได้ชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินโดยถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่นายประเสริฐไปแล้วประมาณ 80,000 บาท และได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 18050 ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ให้แก่จำเลยร่วมเป็นการตีใช้หนี้ที่กู้ยืมจากนายประเสริฐแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยรับว่าการกู้ยืมเงินตามฟ้องมีการทำหนังสือสัญญากู้เงินกันไว้เป็นหลักฐานและจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การชำระดอกเบี้ยไม่ได้ทำสัญญาหรือหลักฐานใดไว้โดยไม่มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานใด ๆ มาแสดงเพื่อสนับสนุนคำเบิกความของจำเลย คำเบิกความของจำเลยจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ รับฟังไม่ได้ว่าได้มีการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าว ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลยร่วมเป็นการตีใช้หนี้ต้นเงินกู้ยืมให้แก่นายประเสริฐตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วนั้น เห็นว่า แม้การชำระหนี้เงินกู้ด้วยการโอนที่ดินตีใช้หนี้ จะเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น ซึ่งมิใช่การชำระหนี้ด้วยเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 ก็ตามแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 315 บัญญัติไว้ว่า “อันการชำระหนี้นั้นต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ทำให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์” ได้ความจากเอกสารหมาย จ.1 ว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐผู้ตายเมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2540 ดังนั้นนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแล้วทายาทย่อมหมดอำนาจจัดการทรัพย์มรดกและกระทำนิติกรรมใด ๆ กับบุคคลภายนอก ทั้งนี้จนกว่าจะแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์เท่านั้นที่เป็นบุคคลรับชำระหนี้แทนนายประเสริฐผู้ตาย ปรากฏว่าจำเลยเพิ่งโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อ้างว่าโอนเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องแก่จำเลยร่วมตามหนังสือขายที่ดินเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540 ภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐผู้ตายไปแล้วแม้จำเลยร่วมจะเป็นทายาทของนายประเสริฐผู้ตายก็เป็นบุคคลที่ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้แทนนายประเสริฐผู้ตาย ประกอบกับเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยอ้างว่าเป็นข้อตกลงการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมตามฟ้องแทนการชำระเงินนั้น ไม่ปรากฏว่าได้มีการคิดเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งที่ดินในวันที่จดทะเบียนอันเป็นการส่งมอบ ฉะนั้นข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นการตกลงชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยทรัพย์สินอื่นแทนจำนวนเงินที่กู้ยืม โดยไม่มีการคำนวณหนี้เงินที่ค้างชำระเท่ากับราคาท้องตลาดของที่ดินที่อ้างว่าโอนเพื่อใช้หนี้แทนในวันที่ 10 มิถุนายน2540 ซึ่งเป็นวันที่ชำระหนี้แทนและเป็นวันส่งมอบให้จำเลยร่วม ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 วรรคหนึ่ง และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 วรรคท้าย ฉะนั้นการจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยร่วมตามเอกสารหมาย จ.7 และมีการทำหนังสือเอกสารหมาย ล.1 จึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ตามฟ้องระงับลงแต่ประการใด ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน