แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อจำเลยทั้งสองยกขึ้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้วินิจฉัยให้ แม้จะมิได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองก็ยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ให้นิยามคำว่า “ขาย” หมายความรวมถึง จำหน่าย และมีไว้เพื่อขายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายจำนวนหนึ่ง และขายไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันและเป็นความผิดกรรมเดียว
คำนิยามในมาตรา 4 ของคำว่า “ขาย” ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ไม่อาจนำมาใช้สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีคำนิยามของคำว่า “จำหน่าย” ไว้โดยเฉพาะแล้ว ในมาตรา 4 ให้หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ มิได้มีความหมายรวมถึงการมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายดังเช่น พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ด้วย และความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 เป็นความผิด ที่แยกเจตนาในการกระทำต่างหากจากกันได้ แม้จะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกระชั้นชิดกันก็ตาม การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 17 เม็ด เป็นความผิดสำเร็จแล้วกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองดังกล่าวแก่สายลับไป 2 เม็ด ก็ย่อมมีความผิดฐานจำหน่ายอีกกรรมหนึ่ง จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๕๗, ๖๖, ๖๗, ๙๑, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๘๓, ๙๑ ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ และคืนธนบัตรจำนวน ๒๐๐ บาท แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๕๗, ๙๑ (ที่ถูกมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง, ๕๗, ๙๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันมี เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ ๕ ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ ๕ ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ ๖ เดือน รวมจำคุกคนละ ๑๐ ปี ๖ เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๕ ปี ๓ เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ และคืนธนบัตรของกลาง ๒๐๐ บาท แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสองเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหา ข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน ๑๗ เม็ด และร่วมกันจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไป ๒ เม็ด เหลืออยู่ที่ตัวจำเลยที่ ๑ จำนวน ๑๕ เม็ด ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยทั้งสองยกขึ้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มิได้วินิจฉัยให้ และแม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองก็ยกขึ้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน ๒ เม็ด ที่ขาย ให้สายลับและจำนวน ๑๕ เม็ด ที่ตรวจค้นพบที่ตัวจำเลยที่ ๑ เป็นจำนวนเดียวกันกับที่มีไว้เพื่อจำหน่าย การขายหรือมีไว้เพื่อขายเป็นความผิดเดียวกัน และกระทำในช่วงเวลาใกล้เคียงต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม เห็นว่า พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔ ให้นิยาม คำว่า “ขาย” หมายความรวมถึง จำหน่าย และมีไว้เพื่อขายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายจำนวนหนึ่ง และขายไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันและเป็นความผิดกรรมเดียว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มิใช่ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ เพราะได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๙๗ (พ.ศ. ๒๕๓๙) เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ เดิมทุกฉบับ และให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไป แต่ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ. ๒๕๓๙) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้ว ดังนั้น คำนิยามในมาตรา ๔ ของคำว่า “ขาย” ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงไม่อาจนำมาใช้สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งมีคำนิยามของคำว่า “จำหน่าย” ไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา ๔ ให้หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ มิได้มีความหมายรวมถึงการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังเช่นพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วย และความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ เป็นความผิดที่แยกเจตนาในการกระทำต่างหากจากกันได้ แม้จะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกระชั้นชิดกัน ก็ตาม การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน ๑๗ เม็ด เป็นความผิดสำเร็จแล้วกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองดังกล่าวแก่สายลับไป ๒ เม็ด ก็ย่อมมีความผิดฐานจำหน่ายอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน หาใช่ความผิดกรรมเดียวไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.