คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และมาตรา 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(4)(7)(8), 357, 83 คืนทรัพย์ของกลางลำดับที่ 61ถึง 72 แก่ผู้เสียหายและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนคิดเป็นเงินจำนวน 316,971,925 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่ในระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 1และที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานรับของโจร

ระหว่างพิจารณา เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุลอาซิซผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก วางโทษจำคุกคนละ 3 ปีจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสารภาพก่อนคดีเสร็จการพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 2 ปี คืนทรัพย์ของกลางลำดับที่ 61 ถึง 72 แก่ผู้เสียหาย สำหรับคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นั้นเมื่อศาลมิได้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในฐานความผิดดังกล่าวจึงไม่อาจมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ในส่วนนี้ได้ คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่านายเกรียงไกร เตชะโม่ง ได้ลอบเข้าไปในพระตำหนักของโจทก์ร่วมและลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมเป็นราคาประมาณ 500,000,000 บาท แล้วนำทรัพย์ที่ลักเข้ามาในประเทศไทย นายเกรียงไกรนำทรัพย์สินของโจทก์ร่วมบางส่วนไปขายให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาทจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปขายต่อให้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3ติดต่อซื้อขายทรัพย์สินที่ลักมากับนายเกรียงไกรโดยตรงโดยจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งเป็นค่านายหน้า เมื่อโจทก์ร่วมทราบว่าถูกคนร้ายลักทรัพย์และสืบทราบว่าคนร้ายคือนายเกรียงไกร โจทก์ร่วมได้มอบให้พันตรีซาอัส เอ็ม เอส อาซิลี เดินทางมาประเทศไทยเพื่อประสานงานกับรัฐบาลไทยในการติดตามทรัพย์สินและจับกุมผู้กระทำความผิด กรมตำรวจได้แต่งตั้งพลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน ได้มีการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการกระทำความผิดและติดตามทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ติดต่อขอพบพลตำรวจโทชลอ และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปขุดทรัพย์สินบางส่วนที่จำเลยที่ 1 นำไปฝังไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินของกลางไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้นำทรัพย์สินของโจทก์ร่วมบางรายการมามอบแก่พลตำรวจโทชลอเมื่อนายเกรียงไกรถูกจับกุมและพาเจ้าพนักงานตำรวจไปขุดทรัพย์สินของโจทก์ร่วมบางส่วนที่ซุกซ่อนไว้แล้ว จำเลยที่นำทรัพย์สินของโจทก์ร่วมจำนวน 16 รายการ ตามบันทึกการมอบทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.23 มามอบให้พลตำรวจโทชลอ พนักงานสอบสวนดำเนินคดีนายเกรียงไกรจนศาลพิพากษาลงโทษและคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสี่พนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยาน แต่ภายหลังกรมตำรวจมีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีสำหรับจำเลยทั้งสี่ให้โดยแต่งตั้งพลตำรวจโทธนู หอมหวล เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 4 ประการแรกว่า การดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 4 เป็นการชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาในข้อ 2.2 ว่า เดิมได้มีการสอบสวนและยุติไปแล้วแต่ต่อมามีการรื้อฟื้นคดีใหม่โดยไม่มีหลักฐานใหม่ที่จะชี้ความผิดของจำเลยที่ 4แต่อาศัยพยานเดิมที่กลับคำให้การเพื่อมุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ 4 มีความผิดนั้นในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของพลตำรวจโทธนู หอมหวล พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า พลตำรวจโทธนูเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนทำหน้าที่รื้อฟื้นคดีนี้สืบเนื่องจากพนักงานสอบสวนที่มีพลตำรวจโทชลอเป็นหัวหน้าชุดดำเนินคดีแก่นายเกรียงไกรเพียงคนเดียว หลังจากดำเนินคดีแก่นายเกรียงไกรจนคดีถึงที่สุดแล้ว พนักงานอัยการได้มีหนังสือแจ้งกองปราบปรามให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ด้วย แต่เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามไม่ดำเนินการตามหนังสือของพนักงานอัยการและได้มีหนังสือหารือไปยังอธิบดีกรมตำรวจในระหว่างนั้นเองพลตำรวจโทชลอได้เดินทางไปประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อนำของกลางบางส่วนไปคืนแก่โจทก์ร่วม แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียแจ้งว่าของกลางที่คืนให้มีเพียงร้อยละ 20 ของทรัพย์สินทั้งหมดที่ถูกโจรกรรมไปและของกลางบางส่วนเป็นของปลอม หลังจากนั้นกรมตำรวจจึงมีคำสั่งแต่งตั้งพลตำรวจโทธนูเป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนในการรื้อฟื้นคดีนี้และต่อมากรมตำรวจได้ตอบข้อหารือพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145, 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้การดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นการไม่ชอบดังที่จำเลยที่ 4 ฎีกา

จำเลยที่ 4 ฎีกาในข้อ 2.4 ว่า ทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการไม่มีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากใดยืนยันว่า เป็นของผู้เสียหายที่ถูกลักมานั้น ในข้อนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีเอกสารคือ บันทึกการยืนยันทรัพย์สินลงวันที่ 23 มกราคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.42 ตามบันทึกนี้นายเกรียงไกรยืนยันว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ซึ่งจำเลยที่ 4นำมามอบให้พลตำรวจโทชลอเป็นทรัพย์สินที่นายเกรียงไกรลักมาจากพระตำหนักของโจทก์ร่วม และนายเกรียงไกรได้เบิกความยืนยันในชั้นพิจารณาอีกว่า ขณะนายเกรียงไกรถูกคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครพลตำรวจโทชลอและจำเลยที่ 3 ได้นำของกลางมาให้นายเกรียงไกรดูหลังจากนั้นนายเกรียงไกรจึงได้ลงชื่อไว้ตามเอกสารหมาย จ.42 ดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากโจทก์และโจทก์ร่วมจะมีเอกสารหมาย จ.42และคำเบิกความของนายเกรียงไกรแล้ว ยังมีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากอื่นอีกที่เบิกความถึงของกลางทั้ง 16 รายการ เช่น พลตำรวจโทชลอเบิกความว่า ของกลางทั้ง 16 รายการดังกล่าว จำเลยที่ 4 นำมามอบให้พลตำรวจโทชลอ ต่อมาพลตำรวจโทชลอนำไปให้นายเกรียงไกรดูแล้วนายเกรียงไกรยืนยันตามเอกสารหมาย จ.42 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้อย่างมั่นคงว่าของกลางทั้ง 16 รายการ เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่นายเกรียงไกรลักมาจากพระตำหนักของโจทก์ร่วมจริง

จำเลยที่ 4 ฎีกาในข้อ 2.1 ข้อ 2.3 ข้อ 2.5 และ ข้อ 2.6 พอสรุปความได้ว่าจำเลยที่ 4 รับทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ไว้จากจำเลยที่ 3เพื่อซ่อมโดยจำเลยที่ 4 ได้กระทำในลักษณะเปิดเผยและทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด ไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่จำเลยที่ 4 จะทราบได้ว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในปัญหาว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ที่จำเลยที่ 4 ซื้อจากจำเลยที่ 3 หรือรับไว้จากจำเลยที่ 3เพื่อซ่อมนั้น พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่เบิกความในข้อนี้มี 2 ปาก คือพลตำรวจโทชลอและพันตำรวจโทจุมพจน์ จินดานนท์ โดยพลตำรวจโทชลอเบิกความว่า จากการสืบสวนพบว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการจำเลยที่ 4 ซื้อจากจำเลยที่ 3 เป็นจำนวนเงินประมาณ 16,000,000 บาทและพันตำรวจโทจุมพจน์เบิกความว่า พันตำรวจโทจุมพจน์เป็นพนักงานสอบสวนร่วมในการสอบสวนคดีดังกล่าว พันตำรวจโทจุมพจน์ดำเนินคดีเฉพาะนายเกรียงไกร ส่วนจำเลยทั้งสี่มิได้ดำเนินคดี ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ด้วย พันตำรวจโทจุมพจน์จึงหารือกรมตำรวจ กรมตำรวจได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นอีกหนึ่งชุดโดยมีพลตำรวจโทธนูเป็นหัวหน้าชุดต่อมาจำเลยทั้งสี่มอบตัว พันตำรวจโทจุมพจน์แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าซื้อทรัพย์สินจากนายเกรียงไกรโดยไม่ทราบว่าเป็นของที่ถูกลักมา จำเลยที่ 3ให้การทำนองเดียวกันและให้การด้วยว่าทรัพย์สินบางส่วนที่ซื้อมาจากนายเกรียงไกรกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น จำเลยที่ 3 นำไปขายให้แก่จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 16,000,000 บาท นอกจากนั้น จำเลยที่ 3 ยังให้การอีกว่าที่เคยให้การในฐานะพยานว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ จำเลยที่ 3นำไปฝากจำเลยที่ 4 ไว้ให้ซ่อมนั้นความจริงเป็นการขาย ส่วนจำเลยที่ 4ให้การปฏิเสธตลอดข้อหา ทั้งนี้ พันตำรวจโทจุมพจน์ยืนยันว่า ที่เชื่อว่าจำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ จากจำเลยที่ 3 ก็เพราะมีการโอนเงินในนามจำเลยที่ 3 รวม 5 ครั้ง ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองเป็นการอนุมานซึ่งรับฟังได้ถ้ามีเหตุผลอื่นประกอบเหตุผลประการแรกคือคำให้การของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 4 ฎีกาอ้างว่ารับฟังไม่ได้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 จะให้การแตกต่างกัน โดยในครั้งแรกในฐานะพยานจำเลยที่ 3 ให้การว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ จำเลยที่ 3 นำไปฝากให้จำเลยที่ 4 ไว้ซ่อมและในครั้งหลังเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด จำเลยที่ 3 ให้การในฐานะผู้ต้องหาว่าทรัพย์สินดังกล่าวจำเลยที่ 3 ขายให้แก่จำเลยที่ 4 คำให้การของจำเลยที่ 3ในชั้นสอบสวนในครั้งหลังนี้แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 มาประกอบการพิจารณาของศาล จึงสามารถนำมาประกอบในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ทั้งสองได้ และเมื่อพิจารณาข้อนี้ประกอบกับเหตุผลอื่น ๆ เช่น คำเบิกความของพลตำรวจโทชลอที่เบิกความว่า ทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ มีค่ามากไม่มีการชำรุดบกพร่องและเป็นทรัพย์สินที่คัดเลือกไว้แล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ดังกล่าวจำเลยที่ 3 ขายให้แก่จำเลยที่ 4 ดังข้ออนุมานของพยานโจทก์ทั้งสองปัญหาว่าจำเลยที่ 4 รู้หรือไม่ว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ในข้อนี้พันตำรวจเอกประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการนี้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะพิเศษ เช่น นาฬิกามีรูปเป็นหัวงู บางชิ้นมีรูปชาวอิสลามอยู่ที่หน้าปัดเป็นของที่มีราคาแพงและไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 4มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นากและนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าตามเอกสารหมาย ล.23 จำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ มาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ เป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป ดังที่พันตำรวจเอกประเสริฐเบิกความ และในฐานะดังกล่าวจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ที่จำเลยที่ 4 รับซื้อไว้จากจำเลยที่ 3เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 4 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share