คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2517มาตรา26และมาตรา44วรรคแรกได้บัญญัติห้ามมิให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาออกใช้บังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา24,25แล้วจำหน่ายจ่ายโอนนับตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศของรัฐมนตรีจนถึงวันครบกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินการที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองตกลงทำ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่กันในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นการทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายหรือ สัญญา วางมัดจำเอกสารหมายจ.1จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113เดิม(มาตรา150ที่แก้ไขใหม่)โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองต้อง กลับคืนสู่ฐานะเดิมไม่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญากันอีกต่อไปจำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่จะต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตโอนที่ดินเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางแต่อย่างใดการที่จำเลยทั้งสองไม่ไปยื่นคำร้องขออนุญาตดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองราคา150,000บาทและได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว แต่วันทำสัญญาซึ่งขณะที่ทำสัญญากันนั้นที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในระหว่างการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และยังมิได้ออกโฉนดสำหรับที่ดินให้เสร็จสิ้น จำเลยทั้งสองตกลงว่าเมื่อทางราชการจัดรูปที่ดินเสร็จและสำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีได้ออกโฉนดสำหรับที่ดินแล้วจำเลยทั้งสองจะดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาตต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีภายใน30วันนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการเพื่อโอนที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์ทั้งสองและเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจำเลยทั้งสองจะต้องไปจดทะเบียนการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองภายใน30วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออนุญาตให้โอนที่ดินหากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีไม่อนุญาตให้โอนที่ดินจำเลยทั้งสองก็จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวนี้ให้โจทก์ทั้งสองภายใน30วันนับแต่วันครบกำหนดเวลาที่สามารถจะทำนิติกรรมโอนที่ดินแปลงดังกล่าวได้ฯลฯทางราชการได้จัดรูปที่ดินเสร็จและจำเลยทั้งสองได้รับโฉนดที่ดินแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2528 แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาและได้นำที่ดินตามโฉนดดังกล่าวไปจำนองแก่ธนาคารกรุงไทยจำกัดการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการผิดสัญญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจัดการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่11711จากธนาคารกรุงไทยจำกัดแล้วโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมกับชดใช้เบี้ยปรับแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน140,000บาทหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน356,250บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปีจากเงินต้น150,000บาทตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อปี 2527 จำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทั้งสองเช่าที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองอยู่ที่ธนาคารกรุงไทยจำกัดเพื่อทำนาโดยตกลงเช่ากันมีกำหนด15ปีคิดค่าเช่าเป็นเงินปีละ10,000บาทโจทก์ทั้งสองได้จ่ายค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่จำเลยทั้งสองทั้งหมดเป็นเงิน150,000บาทสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข1ไว้แทนสัญญาเช่าจึงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาเช่าจำเลยทั้งสองได้มอบนาที่เช่าให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำประโยชน์ตามสัญญาเช่าตลอดมาจนถึงปัจจุบันจำเลยทั้งสองยินดีให้โจทก์ทั้งสองเช่านาต่อไปจนครบกำหนดสัญญาเช่า15ปีและโดยที่ที่ดินพิพาทอยู่ในระหว่างห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2517การทำสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข1เป็นการหลีกเลี่ยงและขัดต่อพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2517สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องค่าเสียหายจำนวนเงิน150,000บาทนั้นสูงเกินไปโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้เสียหายส่วนโจทก์ทั้งสองขอเงินจำนวน150,000บาทคืนโดยโจทก์ทั้งสองจะเลิกเช่านานั้นจะต้องหักค่าเช่าที่โจทก์ทั้งสองทำนาก่อนปีละ10,000บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน150,000บาทหากจำเลยไม่คืนแก่โจทก์ทั้งสองต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทราบคำบังคับไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2517 มาตรา 26 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 แล้วภายในระยะเวลาห้าปีห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใดๆหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใดๆซึ่งที่ดินในท้องที่ที่จะสำรวจเป็นโครงการจัดรูปที่ดินหรือกระทำการใดๆอันอาจทำให้ราคาประเมินที่ดินสูงขึ้นในที่ดินนั้นเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง”และมาตรา44วรรคแรกบัญญัติว่า”ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินเจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่จะเป็นการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกหรือการโอนไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อประโยชน์ในการจัดรูปที่ดินหรือเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง”บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้ห้ามมิให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาออกใช้บังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24, 25 แล้วจำหน่ายจ่ายโอนนับตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศของรัฐมนตรีจนถึงวันครบกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินการที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่กันในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นการทำสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ. 1 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม (มาตรา150 ที่แก้ไขใหม่) โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมไม่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญากันอีกต่อไปจำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่จะต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตโอนที่ดินเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางแต่อย่างใดการที่จำเลยทั้งสองไม่ไปยื่นคำร้องขออนุญาตดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา
พิพากษายืน

Share