แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา97ให้สิทธิคู่ความฝ่ายหนึ่งจะอ้างคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของตนได้ดังนั้นการที่โจทก์อ้างจำเลยที่2เป็นพยานโจทก์และจะนำสืบเมื่อใดก็ได้แล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควรไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากป.ขณะนั้นโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวจึงไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัทย. จำกัดซึ่งมีจำเลยที่2ถือกรรมสิทธิ์แทนนั้นเป็นการนำสืบเพื่อให้เห็นว่าโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวซื้อที่ดินพิพาทจากบุคคลภายนอกโดยจำเลยที่2เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแทนโจทก์นั่นเองไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นส่วนที่ว่าโจทก์ซื้อมาจากใครเป็นรายละเอียดไม่ทำให้การนำสืบของโจทก์ต้องเสียไป ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีโจทก์เป็นบุคคลมีสัญชาติไทยจึงเชื่อว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเอาคืนที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่2ถือกรรมสิทธิ์แทนได้ส่วนการที่โจทก์อ้างจำเลยที่2เป็นพยานก็เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิไว้การฟ้องคดีและการดำเนินคดีของโจทก์ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ในขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัทย. จำกัดโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา86และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113เดิม(มาตรา150ที่แก้ไขใหม่)แต่ผลของการที่นิติกรรมเป็นโมฆะดังกล่าวไม่ทำให้นิติกรรมเสียเปล่าไปยังคงมีผลตามกฎหมายอยู่แต่โจทก์ไม่มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต้องจัดการจำหน่ายตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา94และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะที่ดินพิพาทเท่านั้นไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่โจทก์เป็นคนต่างด้าว โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2892 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 782 จากนายประยูรโดยโจทก์ตกลงกับจำเลยทั้งสองว่าให้จำเลยที่ 2 ภริยาจำเลยที่ 1ซึ่งมีสัญชาติไทยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทนโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ตามกฎหมายและเมื่อได้รับแจ้งจากโจทก์ จำเลยทั้งสองจะต้องโอนที่ดินในทางทะเบียนให้โจทก์ วันที่ 18 สิงหาคม 2520 นายประยูรได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 นับจากนั้นโจทก์ได้เข้าครอบครองดูแลรักษาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ตลอดมา ต่อมาประมาณปี 2528 โจทก์ได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาทั้งยังเรียกร้องเอาเงินจากโจทก์เป็นจำนวนมาก โจทก์จึงมอบให้ทนายความทวงถามให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาหากไม่อาจบังคับได้ ขอให้จำหน่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่บุคคลภายนอก โดยโจทก์เป็นผู้จัดการจำหน่ายและให้โจทก์มีสิทธิในเงินที่จำหน่ายโดยให้ถือว่าเป็นการขอให้จำหน่ายที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94, 96 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา หากไม่อาจบังคับได้ ให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 3,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท จำเลยทั้งสองไม่เคยถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของบริษัทยงสิน (ประเทศไทย)จำกัด มีนายประยูร เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้กู้ยืมเงินจำเลยทั้งสอง โดยมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นประกัน ครั้งวันที่ 18 สิงหาคม 2520 บริษัทดังกล่าวจึงได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้จำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถาม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์เดิมที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของบริษัทยงสิน (ประเทศไทย) จำกัด มีนายประยูรเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมาบริษัทดังกล่าวประสบการขาดทุนได้ขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากจำเลยทั้งสองโดยมีโฉนดที่ดินพิพาทวางเป็นประกันครั้นวันที่ 18 สิงหาคม 2520 บริษัทดังกล่าวได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้จำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้ จำเลยที่ 2เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วฟังว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าว
ประการที่สอง จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตโดยใช้สิทธิอ้างจำเลยที่ 2 เป็นพยานโจทก์ให้เบิกความเป็นพยานโจทก์ก่อนพยานอื่นหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยแต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 97 บัญญัติว่า “คู่ความฝ่ายหนึ่งจะอ้างคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของตนหรือจะอ้างตนเองเป็นพยานก็ได้” เมื่อกฎหมายบัญญัติให้สิทธิไว้เช่นนี้ ดังนั้นการที่อ้างจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานฝ่ายโจทก์ และจะนำสืบเมื่อใดก็ได้แล้วแต่โจทก์จะเป็นสมควรไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ประการที่สาม จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายประยูร โยธาวุธ ขณะนั้นโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวจึงไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้ แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัทยงสิน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น เห็นว่า จุดประสงค์ก็คือโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลภายนอกโดยจำเลยที่ 2เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแทนโจทก์นั่นเอง ส่วนที่ว่าโจทก์ซื้อมาจากใครเป็นรายละเอียด ไม่ทำให้การนำสืบของโจทก์ต้องเสียไป
ประการที่สี่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เนื่องจากโจทก์เริ่มต้นฟ้องคดีโดยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามกฎหมายและดำเนินคดีโดยไม่สุจริตควรที่จะให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสองทั้งสามศาลเห็นว่า ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีโจทก์เป็นบุคคลมีสัญชาติไทยจึงเชื่อว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเอาคืนที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนได้ ส่วนการดำเนินคดีที่โจทก์อ้างจำเลยที่ 2 เป็นพยาน ก็เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิไว้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีของโจทก์จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
ประการสุดท้าย โจทก์ฎีกาว่า การได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน หมวด 8 มาตรา 86 มาตรา 86 ต้องอาศัยสนธิสัญญาและตามมาตรา 84 ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงแต่ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติให้เป็นโมฆะจึงไม่เป็นโมฆะ และโจทก์มีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ในขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัทยงสิน (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการต้องห้ามซัดแจ้งโดยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิมมาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 บัญญัติให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดให้ซึ่งไม่น้อยกว่า 180 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ถ้าคนต่างด้าวไม่จำหน่ายที่ดินภายในกำหนด ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นผลของการที่นิติกรรมเป็นโมฆะดังกล่าวจะไม่ทำให้นิติกรรมเสียเปล่าไปยังคงมีผลตามกฎหมายอยู่ แต่ประมวลกฎหมายที่ดินให้อำนาจที่จะจำหน่ายที่ดินนั้นได้ และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่ประการใดที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างเหตุว่า เมื่อนิติกรรมเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จำหน่ายเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 2892ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด โดยให้จำเลยที่ 2 ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ หากไม่ได้ให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และให้โจทก์มีสิทธิในเงินที่จำหน่าย หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้ศาลชั้นต้นแจ้งคำพิพากษาศาลฎีกาให้อธิบดีกรมที่ดินทราบ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ