คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15055/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการจับกุม ป. โดยการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเมื่อเวลา 18.25 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ขอให้ศาลออกหมายค้นร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้และไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนพร้อมกับอาวุธปืนและกระสุนปืนแล้วจึงนำตัว ป. มาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามที่กล่าวพอสมควร ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พันตำรวจตรี ธ. ได้ควบคุม ป. มายังห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เหตุที่ยังไม่ได้นำตัว ป. ไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผล สอดคล้องกับบันทึกการจับกุม ป. ที่ระบุว่า ทำขึ้นเมื่อเวลา 20.30 นาฬิกา ของวันที่ 25 เมษายน 2549 เชื่อว่าในขณะนั้นพันตำรวจตรี ธ. ยังไม่ได้นำตัว ป. ส่งพนักงานสอบสวน ป. จึงยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรี ธ.
ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยมาพบพันตำรวจตรี ธ. แจ้งว่าเป็นน้องชาย ป. และเสนอจะให้เงิน 400,000 บาท ถ้าปล่อยตัว ป. พันตำรวจตรี ธ. รับปากจะช่วยเหลือ จำเลยนัดจะนำเงินมาให้ในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ได้รายงานผู้บังคับบัญชาและไปขอลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเพื่อวางแผนจับกุมตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งร้อยตำรวจตรี ม. เป็นผู้บันทึก ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยถือถุงกระดาษสีน้ำตาลมาหาพันตำรวจตรี ธ. ที่ห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยแจ้งว่าเงินครบ แล้วล้วงเอาธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ออกมาจากถุง พันตำรวจตรี ธ. จึงจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานให้และขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 และเงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) บัญญัติว่า ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น…(2) จัดหาหรือให้เงิน… เพื่อมิให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ… และมาตรา 3 นิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด… โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 พันตำรวจตรี ธ. กับพวกร่วมกันจับกุม ป. ผู้ต้องหา พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี ต่อมาจำเลยได้เสนอขอให้และให้เงินสินบน 400,000 บาท แก่ผู้จับกุม เพื่อจูงใจให้ปล่อยตัว ป. ไปเสีย การกระทำของจำเลยเป็นการจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุม ป. ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2260/2549 ของศาลชั้นต้น เพื่อมิให้ ป. ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ จำเลยจึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดฐานนั้น เห็นได้ว่า ป. ต้องกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐานใดฐานหนึ่ง และจำเลยให้เงินเพื่อมิให้ ป. ถูกลงโทษ จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. ในความผิดฐานนั้น ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ป. ได้กระทำความผิดในข้อหาใด ปริมาณยาเสพติดให้โทษมีเพียงใด และศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บทมาตราใด โจทก์จะบรรยายคลุมๆ ว่า ป. กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้ เพราะหากจำเลยมีความผิดก็ต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. เมื่อไม่ได้บรรยายความผิดของ ป. ตามที่กล่าว ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้ แม้โจทก์จะระบุหมายเลขคดีที่ ป. ถูกลงโทษมาในฟ้อง แต่ก็ไม่มีรายละเอียด เมื่อฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 867/2550 แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้ โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 144 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) ริบธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ( เมทแอมเฟตามีน ) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ( เมทแอมเฟตามีน ) โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี และปรับ 200,000 บาท รวมจำคุก 11 ปี และปรับ 600,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนเงินของกลาง400,000 บาท แก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เวลา 18.25 นาฬิกา พันตำรวจตรีธัชพงศ์ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ โดยพันตำรวจตรีธัชพงศ์เป็นหัวหน้าชุดได้วางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด จากนายประจวบ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษหลังเก่า เมื่อนายประจวบนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบ จึงทำการจับกุมและตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 10 เม็ด นายประจวบให้การรับสารภาพว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้ จึงขอให้ศาลออกหมายค้นแล้วไปทำการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 107 เม็ด อาวุธปืนและกระสุนปืน พันตำรวจตรีธัชพงศ์แจ้งข้อหานายประจวบว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย และกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จากนั้นนำตัวนายประจวบมาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยซึ่งเป็นน้องของนายประจวบได้มาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์และในวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยได้มาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์อีกครั้งพร้อมกับมอบเงินจำนวน 400,000 บาท ให้ จึงมีการจับกุมจำเลยแจ้งข้อหาว่า ให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ และยึดธนบัตรจำนวน 400,000 บาท เป็นของกลาง ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือไม่ โดยสมควรพิจารณาเสียก่อนว่าขณะที่จำเลยมาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายประจวบซึ่งถูกจับกุมยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรีธัชพงศ์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการจับกุมนายประจวบโดยการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเมื่อเวลา 18.25 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรีธัชพงศ์ขอให้ศาลออกหมายค้นร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้และไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนพร้อมกับอาวุธปืนและกระสุนปืนแล้วจึงนำตัวนายประจวบมาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามที่กล่าวพอสมควร พันตำรวจตรีธัชพงศ์พยานโจทก์ก็เบิกความว่า ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ได้ควบคุมตัวนายประจวบมายังห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เหตุที่ยังไม่ได้นำตัวนายประจวบไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผล สอดคล้องกับบันทึกการจับกุมนายประจวบ ที่ระบุว่า ทำขึ้นเมื่อเวลา 20.30 นาฬิกา ของวันที่ 25 เมษายน 2549 เมื่อจำเลยมาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์ในเวลาประมาณ 21 นาฬิกา เชื่อว่าในขณะนั้นพันตำรวจตรีธัชพงศ์ยังไม่ได้นำตัวนายประจวบส่งพนักงานสอบสวน นายประจวบจึงยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรีธัชพงศ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ขณะที่จำเลยไปพบและเสนอให้เงินจำนวน 400,000 บาท แก่พันตำรวจตรีธัชพงศ์เมื่อเวลา 21 นาฬิกา เพื่อให้ปล่อยนายประจวบนั้นมีการนำตัวนายประจวบส่งพนักงานสอบสวนแล้ว หน้าที่ของพันตำรวจตรีธัชพงศ์ในฐานะผู้จับกุมย่อมหมดไป คดีของนายประจวบอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน แม้จำเลยจะนำเงินจำนวน 400,000 บาท มามอบให้ในวันรุ่งขึ้น การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 นั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ส่วนปัญหาว่าการที่จำเลยได้เสนอเงินจำนวน 400,000 บาท ให้พันตำรวจตรีธัชพงศ์เพื่อให้ปล่อยตัวนายประจวบจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือไม่นั้น เห็นว่า พยานจำเลย ล้วนเป็นญาติจำเลยย่อมเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย ทั้งเรื่องการอนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ไม่มีเหตุที่จำเลยต้องมาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการให้ประกันถึงสองครั้งและในครั้งที่สองก็ยังนำเงินมามอบให้พันตำรวจตรีธัชพงศ์อีกด้วย พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานให้และขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และเงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้และไม่ริบเงินของกลาง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดในข้อหาจัดหาหรือให้เงินเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) หรือไม่ เห็นว่า มาตราดังกล่าวบัญญัติว่า ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น… (2) จัดหาหรือให้เงิน… เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ… และมาตรา 3 นิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด… โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 พันตำรวจตรีธัชพงศ์ กับพวกร่วมกันจับกุมนายประจวบ ผู้ต้องหา พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี ต่อมาจำเลยได้เสนอขอให้และให้เงินสินบน 400,000 บาท แก่ผู้จับกุม เพื่อจูงใจให้ปล่อยตัวนายประจวบไปเสีย การกระทำของจำเลยเป็นการจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมนายประจวบซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2260/2549 ของศาลชั้นต้น เพื่อมิให้นายประจวบซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ จำเลยจึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น เห็นได้ว่า นายประจวบต้องกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐานใดฐานหนึ่ง และจำเลยให้เงินเพื่อมิให้นายประจวบถูกลงโทษ จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับนายประจวบในความผิดฐานนั้น ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่านายประจวบได้กระทำความผิดในข้อหาใด ปริมาณยาเสพติดให้โทษมีเพียงใด และศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บทมาตราใด โจทก์จะบรรยายคลุมๆ ว่า นายประจวบกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้ เพราะหากจำเลยมีความผิดก็ต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับนายประจวบ เมื่อไม่ได้บรรยายความผิดของนายประจวบดังที่กล่าว ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้ แม้โจทก์จะระบุหมายเลขคดีที่นายประจวบถูกลงโทษมาในฟ้อง แต่ก็ไม่มีรายละเอียด เมื่อฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องในข้อหาจัดหาหรือให้เงินเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 จำคุก 6 เดือน ริบธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

Share