คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8462/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ฎีกา แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่วินิจฉัยมาครอบคลุมไปถึงความผิดฐานดังกล่าว และพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกให้วินิจฉัยไปถึงความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบ มาตรา 225 โดยให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง และปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 15 ปี รวมจำคุกคนละ 19 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่ปากขัดแย้งกันในข้อสาระสำคัญเกี่ยวกับการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ในส่วนของการนำธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อไปถ่ายสำเนาและลงบันทึกในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานโดยพยานโจทก์ปากสิบตำรวจเอกปรัชญา สิบตำรวจเอกจรัล และดาบตำรวจบรรทูญต่างอ้างว่าเป็นผู้นำธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อไปถ่ายสำเนาและลงบันทึกในรายงานประจำวัน แต่เมื่อพิจารณาสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ปรากฏว่าร้อยตำรวจเอกสืบเป็นผู้นำธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อไปลงบันทึกในรายงานประจำวัน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวจึงรับฟังเอาเป็นที่แน่นอนไม่ได้ว่าผู้ใดเป็นผู้นำธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อไปลงบันทึกในรายงานประจำวัน ทำให้มีเหตุสงสัยว่าจะมีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ไม่นำสายลับมาเบิกความยืนยันว่าสายลับได้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 จริง และที่สิบตำรวจเอกปรัชญาเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 ล้วงสิ่งของในกระเป๋าแล้วโยนออกนอกตัว จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายืนอยู่ที่สิบตำรวจเอกปรัชญาก่อน และพาจำเลยทั้งสองไปจุดที่จำเลยที่ 1 โยนสิ่งของ พบว่าสิ่งของที่โยนเป็นหลอดพลาสติกซึ่งภายในบรรจุเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด และทำการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 พบว่าที่กระเป๋าเสื้อที่จำเลยที่ 1 สวมใส่มีธนบัตรฉบับละ 50 บาท 2 ฉบับ สิบตำรวจเอกปรัชญาจึงเปรียบเทียบภาพถ่ายธนบัตรปรากฏว่ามีหมายเลขตรงกัน แต่ดาบตำรวจบรรทูญกลับเบิกความว่า จำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีไปที่รั้ว สิบตำรวจเอกปรัชญาวิ่งตาม จำเลยที่ 1 โยนสิ่งของทิ้ง สิบตำรวจเอกปรัชญาถามจำเลยที่ 1 ว่าโยนอะไรทิ้ง จำเลยที่ 1 ไม่ตอบ สิบตำรวจเอกปรัชญาเก็บสิ่งของที่จำเลยที่ 1 โยนทิ้ง นำมาตรวจสอบกับดาบตำรวจบรรทูญ ดาบตำรวจบรรทูญตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 พบธนบัตรฉบับละ 50 บาท 2 ฉบับ อยู่ในกระเป๋าเสื้อเชิ้ตด้านซ้ายที่จำเลยที่ 1 สวมอยู่ ดาบตำรวจบรรทูญนำธนบัตรที่ค้นได้จากตัวจำเลยที่ 1 ไปตรวจสอบกับภาพถ่ายธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อต่อหน้าจำเลยทั้งสอง ปรากฏว่ามีหมายเลขตรงกัน จึงสอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินดังกล่าวมาจากการขายสิ่งของ ไม่ใช่จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเรื่องนี้ จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าไม่พบธนบัตรฉบับละ 50 บาท คงพบแต่ธนบัตรฉบับละ 20 บาท 9 ฉบับ ทั้งชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธตลอดมา และไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม ส่วนที่ดาบตำรวจบรรทูญเบิกความว่า เมื่อดาบตำรวจบรรทูญเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุ แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแสดงหมายค้นที่ได้รับจากร้อยตำรวจเอกอุทัย ซึ่งร่วมตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสองในวันเกิดเหตุ แต่รออยู่ที่บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ก่อนที่ดาบตำรวจบรรทูญจะเข้าตรวจค้นได้ใช้วิทยุสื่อสารแจ้งให้ร้อยตำรวจเอกอุทัยกับพวกสมทบที่บ้านเกิดเหตุ ระหว่างตรวจสอบเมทแอมเฟตามีน ร้อยตำรวจเอกอุทัยกับพวกรวม 5 คน มาสมทบ ระหว่างนั้นดาบตำรวจบรรทูญได้แสดงหมายค้นให้จำเลยที่ 2 ดู แต่ร้อยตำรวจเอกอุทัยกลับเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าร้อยตำรวจเอกอุทัยไม่ได้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสอง ที่พยานเกี่ยวข้องเพราะเป็นพนักงานสอบสวนเท่านั้น ส่วนที่สิบตำรวจเอกปรัชญา สิบตำรวจเอกจรัล และดาบตำรวจบรรทูญเบิกความว่า พบเมทแอมเฟตามีน 445 เม็ด อยู่ที่โคนเสาของห้างนา ก็ยังมีเหตุสงสัยว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจะเป็นของจำเลยทั้งสองหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าบริเวณที่เป็นห้างนาที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางไม่มีรั้วล้อมรอบ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาแล้ว แต่เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาซึ่งครอบคลุมไปถึงความผิดอีกฐานดังกล่าวยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยไปถึงความผิดฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 225 โดยให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง แต่คงให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

Share