แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และ ว. มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ทั้งสองและ ว. ในหนังสือมอบอำนาจนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 2 ปลอมลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองและ ว. ในหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนจำนองขึ้นเงินกับจำเลยที่ 3 อีก แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องเฉพาะโจทก์ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายก่อนยื่นฟ้อง และในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องลายมือชื่อโจทก์ที่ 2 ไว้ก็ตาม แต่เมื่อมีการบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในคำฟ้อง และโจทก์ที่ 1 นำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เคยมอบอำนาจให้ผู้ใดไปจดทะเบียนจำนอง และไม่เคยรับเงินจากการจำนองที่ดินพิพาท ทั้งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาว่าลายมือชื่อโจทก์ที่ 2 ปลอมหรือไม่ มาวินิจฉัยให้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และ ว. ปลอม จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และจดทะเบียนจำนองโดยสุจริต โจทก์ที่ 1 ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งย่อมใช้สิทธิแทนโจทก์ที่ 2 และ ว. ครอบไปถึงทรัพย์ทั้งหมดเพื่อเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 และมีอำนาจขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งแปลง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้คำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 18487 ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่คืนแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเพิกถอนการจำนองที่ดินตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2538 และเพิกถอนการขึ้นเงินจำนองที่ดินตามสัญญาขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเพิกถอนการรับฟ้องของโจทก์ที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 นำสืบถึงสาเหตุที่เกิดเป็นคดีนี้ว่า เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะขายที่ดินพิพาทในส่วนของตนแก่นายมังกร จึงมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้นายมังกรไปดำเนินการแบ่งแยกเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 เสียก่อน ซึ่งพอรับฟังได้ว่าเป็นเหตุสมควรที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จำต้องมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้นายมังกรไป แต่เมื่อนายวาทิตย์ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โจทก์ที่ 1 ทวงถามโฉนดที่ดินพิพาทจากนายมังกร แต่นายมังกรบ่ายเบี่ยงจนโจทก์ที่ 1 ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบเรื่องว่าจำเลยที่ 3 จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 นำสืบได้ความว่า ที่จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาท เพราะนายธนัท และนางจันทร์ฉาย ติดต่อขอกู้เงินจากจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 4,000,000 บาท และนำที่ดินพิพาทรวมทั้งที่ดินแปลงอื่นมาจำนองเป็นประกันและเบิกความว่า ในวันที่จำเลยที่ 3 ออกไปดูที่ดินพิพาท พบโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จึงแจ้งให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทราบถึงเรื่องที่นายธนัทและนางจันทร์ฉายจะนำที่ดินพิพาทไปจำนอง โดยเบิกความว่า โจทก์ที่ 1 ไม่โต้แย้งคัดค้าน อันเป็นการเบิกความทำนองว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทราบดีในเรื่องนี้และยินยอมให้นายธนัทนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 3 แต่โจทก์ที่ 1 ก็ตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เคยรู้จักนายธนัทและนางจันทร์ฉายไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสาม ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็หาได้นำนายธนัทและนางจันทร์ฉายมาเบิกความยืนยันสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 มาเบิกความสนับสนุนว่า นายธนัทเป็นผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่า ไม่เคยรู้จักโจทก์ที่ 1 และลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจจะเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 นายวาทิตย์ และโจทก์ที่ 2 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ก็ไม่ทราบเนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มิได้เบิกความถึงว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจะได้รับผลประโยชน์จากการจดทะเบียนจำนองหรือไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดีนับเป็นผู้มีส่วนเสียโดยตรง จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้นำนายธนัทหรือนางจันทร์ฉายมาเบิกความเป็นพยานยืนยันสนับสนุน และโจทก์ที่ 1 ก็เบิกความปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 3 เช่นนี้ คำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่อ้างว่านายธนัทและนางจันทร์ฉายมาติดต่อขอกู้เงินก็ดี ที่อ้างว่าวันไปดูที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ไม่คัดค้านก็ดี จึงเป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้และเมื่อพิจารณาตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจสำหรับการจดทะเบียนจำนองวันที่ 30 สิงหาคม 2538 และตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ สำหรับการจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองวันที่ 31 สิงหาคม 2538 มีข้อที่ไม่อาจเป็นไปได้ กล่าวคือ ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารลงวันที่ 30 สิงหาคม 2538 และสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารลงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 อันมีความหมายให้เข้าใจได้ว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ทำขึ้นในวันดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายวาทิตย์ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้มอบอำนาจตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจได้ถึงแก่ความตายเสียก่อนแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2538 ตามสำเนาใบมรณบัตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่ลายมือชื่อที่ปรากฏในสำเนาหนังสือมอบอำนาจจะเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของนายวาทิตย์ซึ่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจกับสำเนาใบมรณบัตรโจทก์ที่ 1 ได้อ้างส่งแต่ จำเลยที่ 3 ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน ย่อมรับฟังได้ จึงฟังไม่ได้ว่า นายวาทิตย์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับทำให้เป็นข้อพิรุธในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังมีข้อพิรุธหลายประการในการจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 3 อีก เป็นต้นว่าจำเลยที่ 3 ตอบคำถามของทนายความตนเองว่า จำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่านายธนัทจะนำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 3 ไปให้ผู้ใดรับจดทะเบียนจำนองแทน แต่เมื่อทนายความโจทก์ที่ 1 นำสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาถามค้านแล้ว จึงเบิกความว่าจำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปดำเนินการแทน ซึ่งจำเลยที่ 3 เบิกความว่า ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน อันแสดงให้เห็นถึงการไม่ให้ความสำคัญ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับจำนองที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้จำนองเป็นเงินรวมกันถึง 2,000,000 บาท อีกประการหนึ่ง การจดทะเบียนจำนองครั้งแรก โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และนายวาทิตย์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจคนละฉบับ แต่การมอบอำนาจในการจดทะเบียนขึ้นเงินจำนอง ผู้มีชื่อในโฉนดทั้งสามคนกลับลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียวกัน ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ จึงไม่ทราบว่าเหตุใดจึงต้องทำหนังสือมอบอำนาจที่แตกต่างกันเช่นนั้นและการลงลายมือชื่อของผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ทั้งสามคนในการทำหนังสือมอบอำนาจ จะลงลายมือชื่อพร้อมกันหรือไม่ เพราะอย่างน้อยนายวาทิตย์ย่อมลงลายมือชื่อด้วยไม่ได้แน่ เนื่องจากถึงแก่ความตายไปแล้วและเหตุใดจึงต้องจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน ซึ่งจำเลยที่ 3 น่าจะจดทะเบียนจำนองให้เสร็จสิ้นภายในคราวเดียวกันย่อมเป็นการสะดวกและประหยัดเวลากว่าและเป็นกรณีที่สามารถจะกระทำได้โดยง่าย หากจะอ้างว่าเนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องเงินในวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 3 ก็น่าจะทำการจดทะเบียนจำนองพร้อมกันในวันรุ่งขึ้น ก็ย่อมทำได้ แต่จำเลยที่ 3 ก็หาดำเนินการตามนี้ หรือยกเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้นมาอธิบายให้ทราบแต่อย่างใด รวมทั้งมิได้นำจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่ายในการจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองมาเบิกความสนับสนุนอีกด้วย ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 3 จ่ายเงินกู้ให้แก่นายธนัทไปเรียบร้อยแล้วตามต้นขั้วเช็ค ก็ดี หรือมีการหักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 จำนวน 1,500,000 บาท ตามสำเนาบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ก็ดีนั้น ก็ปรากฏว่าต้นขั้วเช็ค เป็นเอกสารที่จำเลยที่ 3 ทำขึ้นเองย่อมเป็นที่สงสัยในความถูกต้องของเอกสารได้ ส่วนรายการหักทอนเงินในบัญชีของจำเลยที่ 3 จำนวน 1,500,000 บาท ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าจ่ายเงินให้ผู้ใด เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้นำนายธนัทหรือนางจันทร์ฉายมาเบิกความยืนยัน อีกทั้งการหักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ในรายการดังกล่าวก็เป็นการหักทอนบัญชีในวันที่ 28 สิงหาคม 2538 มิใช่หักทอนในวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนขึ้นเงินจำนอง อันเป็นกรณีที่ผิดแผกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติของการกู้ยืมเงินที่มักจะปฏิบัติการชำระหนี้ในลักษณะต่างตอบแทนพร้อมกัน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏทั้งหมดตามที่วินิจฉัยมานี้จึงล้วนแล้วแต่เป็นการดำเนินการที่ไม่สมเหตุสมผลนับตั้งแต่การมอบอำนาจของแต่ละคน การมอบอำนาจสองครั้ง โดยเฉพาะการที่นายวาทิตย์ ผู้มอบอำนาจคนหนึ่งถึงแก่ความตายก่อนวันที่ทำหนังสือมอบอำนาจ การจดทะเบียนจำนองสองครั้งในระยะเวลาห่างกันเพียงวันเดียวโดยไม่ทราบเหตุผล ตลอดจนมีข้อสงสัยว่าจะมีการชำระเงินให้แก่กันตามสัญญาจำนองหรือไม่ เช่นนี้เมื่อนำมารับฟังประกอบกับลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ที่ปรากฏในสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เปรียบเทียบลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ในเอกสารที่แท้จริงฉบับอื่นในสำนวนคดีนี้แล้ว ซึ่งก็หาได้มีความคล้ายคลึงกันเสียทีเดียวไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 จึงมีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อในสำเนาหนังสือมอบอำนาจ และเมื่อฟังได้ว่านายวาทิตย์ซึ่งถึงแก่ความตายก่อนวันที่มีการทำหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับ ก็ต้องฟังว่านายวาทิตย์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับเช่นกัน ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และของนายวาทิตย์ ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จ.4 และ จ.7 จึงเป็นลายมือชื่อปลอม สำหรับในส่วนลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ในหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ไม่เป็นลายมือชื่อปลอมและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้วินิจฉัยถึงประเด็นนี้ก็ตาม แต่ในฟ้องได้บรรยายถึงและโจทก์ที่ 1 นำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เคยมอบอำนาจให้กับผู้ใดไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท และโจทก์ที่ 2 ไม่เคยได้รับเงินจากการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้ ซึ่งเมื่อนำข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่าลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 และนายวาทิตย์ในหนังสือมอบอำนาจตามสำเนาเอกสารหมาย จ.3 จ.4 และ จ.7 เป็นลายมือชื่อปลอมกับนำลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ในสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5 และ 7 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ในใบแต่งทนายความลงวันที่ 5 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 แล้ว ก็หาได้มีความเหมือนหรือคล้ายกันแต่กลับแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินได้บันทึกการตรวจลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ไว้ในสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 ว่า ลายมือนางพวงผกา (โจทก์ที่ 2) เปลี่ยนไปจากเดิมให้บันทึกคู่กรณีไว้ ดังนี้เมื่อนำมาพิจารณาประกอบข้อนำสืบของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ในสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 เป็นลายมือชื่อปลอมเช่นกัน และเมื่อการจดทะเบียนจำนองมีข้อพิรุธสงสัยดังวินิจฉัยมาข้างต้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และจดทะเบียนจำนองโดยสุจริต โจทก์ที่ 1 ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งย่อมใช้สิทธิแทนโจทก์ที่ 2 และนายวาทิตย์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 จึงมีอำนาจขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทได้ทั้งแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองและเพิกถอนการขึ้นเงินจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 18487 ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 30 และ 31 สิงหาคม 2538 โดยให้จำเลยที่ 3 ไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการจำนองดังกล่าว หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 เสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท.