คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ถอนฟ้องเกี่ยวกับการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ดังนั้น การถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง ทำให้โจทก์กลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 จึงมีผลเท่ากับว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงยุติ โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยและแก้ไขการประเมินของจำเลยว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะรวมทั้งเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยมีอำนาจยึดที่ดินดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 วรรคแรก กำหนดว่า เมื่อผู้ถูกประเมินไม่เห็นชอบด้วยกับการประเมินจะต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน และเมื่อผู้ถูกประเมินยังไม่เห็นชอบด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ให้อุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) สำหรับกรณีของโจทก์ในภาษีธุรกิจเฉพาะ โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว แต่ต่อมาโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และได้ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางอันเป็นการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) แล้ว แต่ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาคดีของศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ได้ถอนฟ้องเกี่ยวกับการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ดังนั้น การถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง ทำให้โจทก์กลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 จึงมีผลเท่ากับว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะจึงเป็นยุติ โจทก์จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว แม้หากจะถือว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ที่ขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินของจำเลยและแก้ไขการประเมินของจำเลยว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะรวมทั้งเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น เป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลก็ไม่อาจทำได้ เพราะเป็นการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเกินกว่า 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) ทั้งนี้ โดยปรากฏจากเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 ว่า โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 และโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว และเจ้าพนักงานของจำเลยได้เรียกให้โจทก์ชำระภาษีดังกล่าว โจทก์ไม่ชำระจึงถือว่าเป็นภาษีอากรค้างเจ้าพนักงานของจำเลยจึงมีอำนาจยึดที่ดินของโจทก์ขายทอดตลาดเพื่อชำระภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 12 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุกิจเฉพาะ เพราะศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 8321/2543 ว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าว เพราะในคำพิพากษาฎีกาที่ 8321/2543 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยแต่เพียงว่าโจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งมีผลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวมีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นสำหรับปีภาษีนั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (4) เท่านั้น หาได้วินิจฉัยว่ากรณีการขายที่ดินพิพาทของโจทก์ไม่ใช่เป็นในทางค้าหรือหากำไรที่จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ตามที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด ทั้งยังได้วินิจฉัยต่อไปอีกว่า การขายอสังหาริมทรัพย์หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์ขายที่ดินพิพาท ย่อมต้องถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งสิ้น เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share