คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นกองทุนและมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ และมีอำนาจให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามควรแก่กรณี การที่จำเลยที่ 3 ประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินหรือเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่ 3 ในการที่จะให้ความช่วยเหลือ มิใช่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในหนี้สิ้นของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดทุกกรณี การที่จำเลยที่ 3 ปฏิเสธไม่ยอมให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วเพราะไม่อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครองตามประกาศของจำเลยที่ 3 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 3 ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,582,785.47 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 239,663.11 บาทอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,489.193.22 บาท อัตราร้อยละ16 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 780,985.20 บาท อัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 387,931.25 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,110,124.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน239,663.11 บาท จำนวน 1,489,193.22 บาท และจำนวน 780,985.20 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และจำนวน 387,931.25 บาท แก่โจทก์ที่ 5 ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์และวีธีการที่จำเลยที่ 3 กำหนดนับแต่วันครบกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ ทั้งนี้ หากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5ได้รับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่าใดก็ให้หักออกจากจำนวนที่จำเลยที่ 3 ต้องชำระเท่านั้น ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาทให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 4
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 5 ด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์ที่ 4 และที่ 5 กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 5 และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาการรับฟังเป็นยุติว่า นางรุ่งมณี เป็นมารดาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ที่ 4 เป็นมารดาของโจทก์ที่ 5 นางรุ่งมณีและโจทก์ที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือว่ามีภาระผูกพันกับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับ จำเลยที่ 3 ได้มีประกาศเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 มีหนังสือแสดงเจตนาขอรับความช่วยเหลือทางการเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว และจำเลยที่ 3 มีหนังสือแจ้งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ว่าเงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นของนางรุ่งมณีซึ่งเป็นผู้ที่มีภาระผูกพันกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 4 มีภาระผูกพันกับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกันจึงไม่อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครองตามข้อ 2 (1) ของประกาศของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 สำหรับโจทก์ที่ 4 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 มาตรา 29 ตรี บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกว่า “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยมี “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่นๆ” และมาตรา 29 อัฏฐ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น)บัญญัติว่า “ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ของกองทุน ตามมาตรา 29 ตรี และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง (4) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามสมควรแก่กรณีสำหรับผู้ฝากเงินหรือเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ต้องเสียหาย เนื่องจากสถาบันการเงินดังกล่าวประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างร้ายแรง” ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กองทุนดังกล่าวคือจำเลยที่ 3 ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพและให้มีอำนาจรวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามควรแก่กรณี สำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ที่ต้องเสียหายเพราะเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างร้ายแรง การที่จำเลยที่ 3 ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินหรือเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้นย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่ 3 ในการที่จะให้ความช่วยเหลือ มิใช่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดทุกกรณี การที่จำเลยที่ 3 ปฏิเสธไม่ยอมให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เพราะไม่อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครอง ตามข้อ 2 (1) ของประกาศของจำเลยที่ 3 นั้น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 3 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้ออื่นและฎีกาของโจทก์ที่ 5 นั้น ไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีประโยชน์แก่คดีที่จะวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share