คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะ ระบุไว้ว่า บรรดาเงินที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในขณะนี้และที่จะมีขึ้นหรือได้มาในอนาคตซึ่งได้ฝากไว้ที่ธนาคาร ก. ข. และ ค.เงินทั้งนี้ข้าพเจ้าขอยกให้แก่จำเลยศิษย์ของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏสมุดฝากเงินบัญชีเลขที่ 5106 และ 5459 ที่พิพาทซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของพระภิกษุ ส. ผู้มรณะ และพินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นก่อนที่ผู้มรณะจะมีเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนั้นข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับถึงเงินในบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนี้ จดหมายของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะฉบับแรกเป็นจดหมายธรรมดาที่ผู้มรณะเขียนถึงจำเลย ตอนท้ายของจดหมายมีข้อความเพิ่มเติมให้จำเลยไปลงชื่อในสมุดฝากเงินที่ผู้มรณะฝากไว้ไม่มีการสั่งการกำหนดการเผื่อตายที่จะเข้าแบบเป็นพินัยกรรมจึงไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนจดหมายฉบับที่สองมีข้อความว่า ลูกหมอ (จำเลย) ที่รักเวลานี้พ่อหลวง (พระภิกษุ ส.)ป่วยจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ยังรู้ไม่ได้เลย พ่อหลวงเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ถ้าพ่อหลวงสิ้นลมหายใจลง โดยไม่มีหลักฐานอะไร เงินตกเป็นสงฆ์หมด พ่อหลวงไม่อยากให้เป็นของคนอื่น อยากให้เป็นของลูกหมอคนเดียว แต่ในสมุดเงินฝากต้องลงชื่อลูกหมดเบิกได้คนเดียว จึงจะเป็นหลักฐานมั่นคง สงกรานต์ปีนี้ ขอให้ลูกหมอไปลงชื่อในสมุดฝากให้จงได้ ถ้าไม่ไปจะเสียใจภายหลังฯลฯจดหมายของผู้มรณะฉบับที่สองนี้เป็นเรื่องที่ผู้มรณะแจ้งให้จำเลยไปลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดเงินฝากเงินธนาคาร แม้ในตอนต้นของจดหมายได้มีข้อความว่า ผู้มรณะเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ผู้มรณะไม่อยากให้เป็นของคนอื่นก็ตาม แต่ผู้มรณะก็เพียงแต่เขียนแสดงความรู้สึกในในว่า อยากให้เป็นของจำเลยคนเดียวเท่านั้น การที่พระภิกษุ ส.ใช้วิธีให้จำเลยมาลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดฝากเงิน แสดงว่าผู้มรณะยังไม่ได้ยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลยในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และข้อความที่ผู้มรณะเขียนไว้เช่นนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้มรณะยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลย เมื่อผู้มรณะได้ถึงแก่มรณภาพขณะเป็นพระภิกษุเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้มรณะที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้มรณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นวัดในพุทธศาสนาเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่าง พ.ศ. 2516 ถึงเดือนเมษายน 2529พระครูสุพจนธรรมเวที ดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดโจทก์ในช่วงที่วัดโจทก์ว่างเจ้าอาวาส พระครูสุพนจธรรมเวทีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีหน้าที่ปกครองพระภิกษุสามเณรและดูแลรักษาทรัพย์สินฝากถอนเงินของวัดโจทก์ ได้นำเงินของวัดโจทก์ฝากไว้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชุมพร2 บัญชี คือ เงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 5106 จำนวนเงิน 570,278.51บาท และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บัญชีเลขที่ 4287 จำนวนเงิน67,256.57 บาท ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2529 เจ้าภาพงานศพบริจาคเงินให้วัดโจทก์และผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินจัดงานศพพระที่มรณภาพ พระครูสุพจนธรรมเวทีจึงได้รวบรวมเงินบริจาคไปฝากธนาคารใช้ชื่อว่า “บัญชีงานศพ” ที่ธนาคารกรุงเทพฯพณิชยการจำกัด สาขาชุมพร บัญชีเลขที่ 5459 จำนวนเงิน 46,168.28 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 683,703.36 บาท พระครูสุพจนธรรมเวทีได้มรณภาพขณะเป็นสมณเพศอยู่ที่วัดโจทก์ ทรัพย์สินของพระครูสุพจนธรรมเวทีจะต้องตกเป็นของวัดโจทก์ และไม่ปรากฏว่าพระครูสุพจนธรรมเวทีได้จำหน่ายเงินดังกล่าวไปเสียในขณะที่มีชีวิตอยู่ ต่อมาจำเลยได้ร้องขอต่อศาลเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของพระครูสุพจนธรรมเวที โดยระบุว่าเงินฝากดังกล่าวเข้าไปรวมในกองมรดกตามพินัยกรรมของพระครูสุพจนธรรมเวทีเพื่อหวังเอาเงินดังกล่าวเป็นของจำเลย ขอให้พิพากษาว่าเงินตามสมุดเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 5106 เงิน 570,278.51 บาท และเงินตามสมุดฝากออมทรัพย์เลขที่ 4287 เงิน 67,256.57 บาทธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชุมพร กับเงินตามสมุดคู่ฝากบัญชีเลขที่ 5459 เงิน 46,168.28 บาท ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการจำกัด สาขาชุมพร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 683,703.36 บาท และดอกเบี้ยเงินฝากตามสมุดคู่ฝากทั้งสามเล่มของธนาคารดังกล่าวเป็นของโจทก์ ให้จำเลยตัดยอดเงินฝากตามสมุดเงินฝากทั้งสามเล่มออกจากกองมรดกของพระครูสุพจนธรรมเวที
จำเลยให้การว่า เงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 5106ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชุมพร และเงินฝากบัญชีเลขที่ 5459 ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชุมพรเป็นเงินส่วนตัวของพระครูสุพจนธรรมเวทีซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกเงินในบัญชีดังกล่าวให้แก่จำเลย และมีเจตนายกให้แก่จำเลยโดยให้จำเลยมีสิทธิถอนเงินในบัญชีดังกล่าวได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เงินตามสมุดเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 5106 จำนวนเงิน 570,278.50 บาท เงินตามสมุดเงินฝากออมทรัพย์บัญชีเลขที่ 4287 จำนวนเงิน 67,256.57 บาทธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาชุมพร และเงินตามสมุดคู่ฝากบัญชีเลขที่ 5459 จำนวนเงิน 46,168.28 บาท ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การจำกัด สาขาชุมพร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น683,703.36 บาท และดอกเบี้ยเงินฝากตามสมุดคู่ฝากทั้งสามเล่มของธนาคารดังกล่าวเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะคำขอที่เกี่ยวกับเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 5106ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาชุมพร และเงินฝากบัญชีเลขที่5459 ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชุมพร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าวัดโจทก์มีพระครูปลัดจรูญ ปุณณโก เป็นเจ้าอาวาส เงินฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชุมพร ตามบัญชีเลขที่ 4287จำนวนเงิน 67,256.57 บาท เป็นของวัดโจทก์พระครูสุพจนธรรมเวทีเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดโจทก์ เปิดบัญชีฝากเงินไว้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชุมพร บัญชีเลขที่ 5106จำนวนเงิน 570,278.51 บาท วัดโจทก์เป็นเจ้าของบัญชี และเปิดบัญชีฝากเงินไว้ที่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ สาขาชุมพรบัญชีเลขที่ 5459 จำนวนเงิน 46,168.28 บาท ใช้ชื่อพระครูสุพจนธรรมเวที (บัญชีงานศพ) เป็นเจ้าของบัญชี ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2530 พระครูสุพจนธรรมเวทีถึงแก่มรณภาพในขณะยังเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เงินฝากตามบัญชีเลขที่ 5106 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาชุมพร และเงินฝากตามบัญชีเลขที่ 5459 ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัดสาขาชุมพร เป็นของวัดโจทก์หรือเป็นของผู้มรณะที่ยังไม่ได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม หรือเป็นของผู้มรณะที่ได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรมแล้ว สำหรับเงินฝากตามบัญชีเลขที่ 5106 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาชุมพรนั้น เห็นว่าจำเลยนำสืบถึงที่มาของเงินในบัญชีเลขที่ 5106 ได้ชัดเจน ส่วนโจทก์นั้นนำสืบเพียงว่า ระหว่างที่ผู้มรณะรักษาการแทนเจ้าอาวาสปลาย พ.ศ. 2527 ถึง พ.ศ. 2529ผู้มรณะเป็นผู้จัดเก็บเงินรายได้ของวัด และว่าบัญชีเลขที่ 5106ได้ใช้ชื่อวัดโจทก์เป็นเจ้าของบัญชี เงินในบัญชีดังกล่าวจึงเป็นของวัดโจทก์นั้น เป็นการนำสืบที่ไม่ชัดเจนและเป็นการเข้าใจเอาเองโดยคาดหมาย พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เงินในบัญชีเลขที่ 5106ธนาคารศรีอยุธยา จำกัด สาขาชุมพร เป็นเงินส่วนตัวของผู้มรณะผู้มรณะจึงมีสิทธิจำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรมได้
สำหรับเงินฝากตามบัญชีเลขที่ 5459ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สาขาชุมพรนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าเงินในบัญชีเลขที่ 5459 เป็นเงินส่วนตัวของผู้มรณะเช่นเดียวกัน
สำหรับปัญหาที่ว่า เงินฝากธนาคารในบัญชีพิพาท 2 บัญชีคือบัญชีเลขที่ 5106 และ 5459 ดังกล่าวข้างต้นนั้น ผู้มรณะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรมหรือไม่ ข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า ผู้มรณะได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยตามสำเนาพินัยกรรมและสำเนาจดหมายเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1, 2 และ 3 เงินในบัญชีดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยศาลฎีกาได้พิจารณาเอกสารดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 คือพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มกราคม 2524ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 48/2531 ของศาลชั้นต้นตามเอกสารหมาย ร.3 พินัยกรรม ข้อ 2 ระบุไว้ว่า “บรรดาเงินที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในขณะนี้และที่จะมีขึ้นหรือได้มาในอนาคตซึ่งได้ฝากไว้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชุมพร สมุดฝากเลขที่ 53307ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชุมพร สมุดฝากเลขที่ 206336 และสมุดฝากเลขที่ 124282 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาชุมพรสมุดฝากเลขที่ 680377 และเงินที่ฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด สมุดฝากเลขที่ 3103 เงินทั้งนี้ข้าพเจ้าขอยกให้แก่นายนเรศร์ วงษ์เสรี ศิษย์ของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว” แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏสมุดฝากเงินบัญชีเลขที่ 5106 และ 5459 ที่พิพาทและพินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นก่อนที่ผู้มรณะจะมีเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับถึงเงินในบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนี้ คงมีแต่จดหมายของผู้มรณะอีก2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ล.7 ว่า เป็นพินัยกรรมที่ผู้มรณะยกเงินในบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนั้นให้แก่จำเลยหรือไม่ ได้พิจารณาแล้วสำหรับจดหมายฉบับแรก ลงวันที่ 21 มกราคม 2527 นั้น เป็นจดหมายธรรมดาที่ผู้มรณะเขียนถึงจำเลย ตอนท้ายของจดหมายมีข้อความเพิ่มเติมเตือนให้จำเลยไปลงชื่อในสมุดฝากเงินที่ผู้มรณะฝากไว้จดหมายฉบับนี้ไม่มีการสั่งการกำหนดการเผื่อตายที่จะเข้าแบบเป็นพินัยกรรม จึงไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนจดหมายฉบับที่สองลงวันที่ 23 มีนาคม 2530 มีข้อความว่า “ลูกหมอที่รัก เวลานี้พ่อหลวงป่วยออดแอด หาความสุขไม่ได้เลย จะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ยังรู้ไม่ได้เลย พ่อหลวงเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ ถ้าพ่อหลวงสิ้นลมหายใจลง โดยไม่มีหลักฐานอะไรเลยให้เธอยึดถือไว้ เงินตกเป็นสงฆ์หมด พ่อหลวงไม่อยากให้เป็นของคนอื่นอยากให้เป็นของลูกหมอคนเดียวเท่านั้น แต่ในสมุดเงินฝากต้องลงชื่อลูกหมอเบิกได้คนเดียว จึงจะเป็นหลักฐานมั่นคงได้
สงกรานต์ปีนี้ ขอให้ลูกหมอออกไปลงชื่อเบิกในสมุดฝากให้จงได้หรือจะไปก่อนสงกรานต์สักวันก็ได้ ลงชื่อแล้วกลับมาปฏิบัติหน้าที่สงกรานต์ธนาคารหยุดธนาคารหยุดตรงกับวันจันทร์13 เม.ย. ให้ลูกหมอไปวันอังคาร ลงชื่อในสมุดฝากวันอังคารคืนวันอังคารกลับมาถึงเช้าทำงานพอดี หรือจะไปวันไหนก็แล้วแต่สะดวกของลูกหมอ แต่ต้องไปให้จงได้ ถ้าไม่ไปจะเสียใจภายหลังฯลฯ” เห็นว่า จดหมายของผู้มรณะฉบับที่สองนี้ เป็นเรื่องที่ผู้มรณะแจ้งให้จำเลยไปลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดฝากเงินธนาคาร ผู้มรณะได้กล่าวกระตุ้นเตือนให้จำเลยไปดำเนินการตามคำแนะนำของผู้มรณะเสียโดยเร็ว จะไปวันใดก็สุดแล้วแต่ความสะดวกของจำเลย แม้ในตอนต้นของจดหมายได้มีข้อความว่า ผู้มรณะเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ผู้มรณะไม่อยากให้เป็นของคนอื่นก็ตาม แต่ผู้มรณะก็เพียงแต่เขียนแสดงความคิดแสดงความรู้สึกในใจเท่านั้นว่า อยากให้เป็นของจำเลยคนเดียวเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดเป็นการแน่นอนลงไป แต่กลับไปใช้วิธีให้จำเลยมาลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดฝากเงินเท่านั้น แสดงว่าผู้มรณะยังไม่ได้ยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลยในขณะเขียนจดหมายดังกล่าวคือในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งในคำให้การของจำเลยเองก็ไม่ได้ต่อสู้ว่า ผู้มรณะได้ยกเงินในบัญชีพิพาทนั้นให้จำเลยเด็ดขาดแล้วตั้งแต่ให้จำเลยลงตัวอย่างลายมือชื่อเป็นผู้เบิกได้ และข้อความที่ผู้มรณะเขียนไว้เช่นนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้มรณะยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ และผู้มรณะได้ถึงแก่มรณะภาพขณะเป็นพระภิกษุเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้มรณะที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้มรณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share