แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของโจทก์เป็นเรื่องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น ต้องอุทธรณ์ไปตามลำดับศาลโจทก์ไม่มีสิทธิยื่นฎีกาได้ จึงไม่รับฎีกา
โจทก์เห็นว่า โจทก์ยื่นฎีกาเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์ภาค 1ได้มีคำพิพากษายืนลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วแต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งใหม่ว่าคดีระงับและให้ปล่อยตัวจำเลยไปเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าคดีระงับดังกล่าวมิใช่เป็นคำสั่งในฐานะศาลชั้นต้นตามปกติ แต่เป็นการสั่งแทนศาลอุทธรณ์ภาค 1การที่โจทก์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเท่ากับเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์จึงมีสิทธิยื่นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 114,115)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 1 ปี ให้จำเลยใช้เงินที่ฉ้อโกงไปจำนวน 79,600 บาทแก่ผู้เสียหาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ จำเลยและผู้เสียหายฟังแล้ว ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับลง ให้ปล่อยตัวจำเลยไปได้
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 111)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 112)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแล้วไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คำพิพากษาย่อมถึงที่สุด ผู้เสียหายไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลย เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ เนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ นั้น เป็นการแก้ไขคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นการโต้แย้งคำสั่งตามปกติของศาลชั้นต้นซึ่งสั่งไปตามอำนาจที่มีอยู่ มิได้สั่งแทนศาลอุทธรณ์ภาค 1โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ฎีกา ขึ้นมาตามลำดับศาล จะฎีกาตรงมายังศาลฎีกาเลยไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกานั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง