แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องบรรยายโดยสรุปได้ความว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารกับบริษัทผู้เสียหาย การก่อสร้างอาคารยังไม่แล้วเสร็จและอาคารดังกล่าวมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้านจึงแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบริษัทผู้เสียหายก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วแต่จำเลยกลับไม่ยอมชำระราคากับรับมอบที่ดินและอาคารจากบริษัทผู้เสียหาย เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จตามที่จำเลยแจ้งลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และต่อมาจำเลยใช้อ้างเอกสารราชการดังกล่าวต่อประธานศาลปกครองสูงสุดโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย คำบรรยายฟ้องดังกล่าวนั้นได้อ้างถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิด ทั้งบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วด้วย อันครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267 และ 268 โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่พาดพิงและเจาะจงว่ากล่าวถึงผู้เสียหายอันเป็นเหตุให้สิทธิของผู้เสียหายถูกกระทบกระเทือน ผู้เสียหายจึงได้รับความเสียหายโดยตรง ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเท็นสตาร์เรียลเอสเตท จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์สืบพยานได้ 3 ปาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ที่เหลือ พยานโจทก์ร่วมและพยานจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอธิบดีอัยการเขต 4 รักษาราชการแทนอธิบดีอัยการเขต 4 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ที่เหลือ พยานโจทก์ร่วมและพยานจำเลยต่อไป แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทเท็นสตาร์เรียลเอสเตท จำกัด ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องบรรยายโดยสรุปได้ความว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารกับบริษัทผู้เสียหาย การก่อสร้างอาคารยังไม่แล้วเสร็จและอาคารดังกล่าวมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้าน จึงแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบริษัทผู้เสียหายก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วแต่จำเลยกลับไม่ยอมชำระราคากับรับมอบที่ดินและอาคารจากบริษัทผู้เสียหาย เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จตามที่จำเลยแจ้งลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และต่อมาจำเลยใช้อ้างเอกสารราชการดังกล่าวต่อประธานศาลปกครองสูงสุดโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย เห็นว่า จากคำบรรยายฟ้องดังกล่าวนั้นได้อ้างถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดทั้งบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วด้วย อันครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และ 268 ซึ่งโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่พาดพิงและเจาะจงว่ากล่าวถึงผู้เสียหายอันเป็นเหตุให้สิทธิของผู้เสียหายถูกกระทบกระเทือน ดังนั้นผู้เสียหายจึงได้รับความเสียหายโดยตรงซึ่งย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทเท็นสตาร์เรียลเอสเตท จำกัด ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ที่เหลือ พยานโจทก์ร่วมและพยานจำเลยต่อไป แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยคดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้าสืบได้ 3 ปาก แล้วโจทก์แถลงขอเลื่อนคดี ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานอีกต่อไป จึงให้งดสืบพยานโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่สามารถพิจารณาเองได้ตามอำนาจศาลที่เห็นสมควรดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกาก็ตาม เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานหากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสืบพยานอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วรรคท้าย ต้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาด้วยมิฉะนั้นศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) โดยอำนาจของศาลอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวก็เป็นดุลพินิจในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ของศาลอุทธรณ์นั้นเอง ซึ่งคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยอาจจะเป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่สืบพยานตามที่โจทก์ร้องขอจึงเป็นการไม่ชอบ ดังนั้นคดีนี้เมื่อพิเคราะห์ถึงฟ้องโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำผิดของจำเลยอันครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดประกอบกับพยานหลักฐานของโจทก์ที่ได้นำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยมาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานเพียงเท่าที่ปรากฏนั้นยังไม่เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติเพียงพอที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาวินิจฉัยและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน