คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15233/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อสัญญาที่โจทก์ตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “เอสโซ่” นั้น ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเป็นสินค้าของโจทก์ แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้า “เอสโซ่” ก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยโจทก์เอง มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาสินค้าเองแล้วนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แม้จะไม่จดทะเบียนต่อนายทะเบียนก็หาตกเป็นโมฆะไม่
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างสถานีบริการน้ำมัน โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าที่ดินแล้ว ยอมให้สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตกเป็นเจ้าของที่ดิน ดังนั้นเมื่อครบอายุสัญญาเช่าที่ดิน สถานีบริการน้ำมันรวมทั้งส่วนควบ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดิน เมื่อถังน้ำมัน 9 ถัง ฝังอยู่ใต้พื้นดินและป้ายโฆษณาใหญ่ที่ปักยึดติดลงไปในดินอย่างมั่นคง ซึ่งตามสภาพจึงเป็นสาระสำคัญของการประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันไม่อาจแยกออกจากสถานีบริการน้ำมันได้ นอกจากการขุดทำลายพื้นผิวของสถานีบริการน้ำมัน จึงถือว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมันย่อมตกเป็นของเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนได้ ส่วนถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย ฮ้อยท์ยกเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ปั๊มลม ถือไม่ได้ว่าเป็นสาระสำคัญของสถานีบริการน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมัน แม้จะเป็นส่วนสาระสำคัญในการให้บริการจำหน่ายน้ำมัน แต่มีลักษณะที่มิได้ยึดติดแน่นกับที่ดินหรือสถานีบริการน้ำมันเป็นการถาวร สามารถยกเคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องทุบทำลาย จึงไม่ถือเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนแก่โจทก์ได้
ส่วนที่ศาลล่างพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้โจทก์เข้าไปรื้อถอนขนย้ายเครื่องบริภัณฑ์ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สถานีบริการน้ำมันนั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจโจทก์เข้าไปดำเนินการบังคับคดีเองได้ คำพิพากษาส่วนนี้จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันส่งคืนเครื่องบริภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ตามฟ้อง รวม 7 รายการ ให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากจำเลยทั้งสองไม่คืน ให้โจทก์เข้าไปรื้อถอนขนย้ายเครื่องบริภัณฑ์ตามฟ้อง ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สถานีบริการน้ำมัน เลขที่ 351/2 ถนนสุขุมวิท ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 278,677 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 900,000 บาท กับค่าเสียหายวันละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งคืนเครื่องบริภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ ตามฟ้องให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันส่งคืนเครื่องบริภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ 7 รายการ ตามฟ้องคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เข้าไปรื้อถอนขนย้ายเครื่องบริภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งติดตั้งอยู่ที่สถานีบริการน้ำมัน เลขที่ 351/2 ดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 278,677 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2513 โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1423 ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 2 งาน มีกำหนด 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2513 เพื่อปลูกสร้างสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่แสตนดาร์ด และมีข้อตกลงว่า สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่าตกเป็นของผู้ให้เช่าเมื่อครบอายุสัญญาเช่าแล้วสัญญาเช่าดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ได้ปลูกสร้างสถานีบริการน้ำมันติดตั้งตู้จ่ายน้ำมัน 7 ตู้ ถังน้ำมันใต้ดินขนาด 9,000 ลิตร 4 ถัง ขนาด 5,500 ลิตร 5 ถัง ถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย 1 ถัง ฮ้อยท์ยกรถเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง 1 ชุด ปั๊มลม 1 อัน และติดตั้งป้ายโฆษณาเอสโซ่ขนาดใหญ่ 1 ป้าย วันที่ 14 ตุลาคม 2531 นายทุ้ยและนางรัตนาได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1423 ให้แก่นายชาวัลย์ ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2542 โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 โดยนายชาวัลย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ เข้าดำเนินกิจการที่สถานีบริการน้ำมันดังกล่าวมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 จำเลยที่ 1 ได้รับมอบการครอบครองและใช้สอยสถานีบริการน้ำมันพร้อมทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวไปจากโจทก์แล้วตามสัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการ และในวันที่ 13 มิถุนายน 2543 โจทก์ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 โดยนายชาวัลย์ดำเนินกิจการที่สถานีบริการน้ำมันต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 มีข้อตกลงว่า เมื่อสัญญาเลิกหรือสิ้นสุด จำเลยที่ 1 ต้องหยุดดำเนินงานสถานีบริการน้ำมัน งดใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อหรือข้อความทางการค้าของโจทก์ ต้องส่งมอบสมุดคู่มือ ข้อมูล เครื่องบริภัณฑ์คืนโจทก์ ถอดถอนป้ายหรือสิ่งโฆษณาที่มีเครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้า ข้อความทางการค้าคืนโจทก์ หรือลบออก พ่นสีทับและหยุดการใช้หรืออ้างอิงดังกล่าวในทางการค้าต่อไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 ยินยอมจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์วันละ 30,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติตามที่กล่าวมาเสร็จเรียบร้อย ตามหนังสือสัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการ แต่หลังจากสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบตู้จ่ายน้ำมัน 7 ตู้ ราคาตู้ละ 39,811 บาท ถังน้ำมันใต้ดินรวม 9 ถัง ถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย 1 ถัง ฮ้อยท์ยกรถเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง 1 ชุด ปั๊มลม 1 อัน และป้ายโฆษณาใหญ่เอสโซ่ 1 ป้าย ให้โจทก์
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า สัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “เอสโซ่” ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ข้อสัญญาตามสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์ตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 เข้าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าคำว่า “เอสโซ่” ของโจทก์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันก็เป็นสินค้าของโจทก์เอง แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้าว่า “เอสโซ่” ก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยโจทก์เอง มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาสินค้ามาเอง แล้วนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันจึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แม้จะไม่จดทะเบียนต่อนายทะเบียนก็หาตกเป็นโมฆะไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ตู้จ่ายน้ำมัน 7 ตู้ ถังน้ำมันใต้ดิน 9 ถัง ถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย 1 ถัง ฮ้อยท์ยกรถเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง 1 ชุด ปั๊มลม 1 อัน และป้ายโฆษณาใหญ่ 1 ป้าย ตามฟ้อง เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นายชาวัลย์เป็นผู้รับโอนที่ดินที่ตั้งสถานีบริการน้ำมัน ย่อมต้องรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด สิ่งปลูกสร้างคือสถานีบริการน้ำมันย่อมตกเป็นของนายชาวัลย์ ถังน้ำมันขนาด 9,000 ลิตร 4 ถัง และขนาด 5,500 ลิตร 5 ถัง ที่ฝังอยู่ใต้พื้นดิน และป้ายโฆษณาใหญ่ซึ่งมีลักษณะสร้างเป็นเสาเหล็ก 2 เสา สูงกว่าสิบเมตร ปักยึดติดลงไปในดินอย่างมั่นคงแข็งแรง สำหรับติดตั้งป้ายยี่ห้อของสถานีบริการน้ำมันซึ่งมีการลบอักษรคำว่า “เอสโซ่” ออกหมดแล้ว ถังน้ำมันใต้ดินก็ดี ป้ายโฆษณาใหญ่ก็ดี ตามสภาพของสถานีบริการน้ำมันถือเป็นส่วนสาระสำคัญของการประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมัน ไม่อาจแยกออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสถานีบริการน้ำมันได้ นอกจากการขุดทำลายพื้นผิวของสถานีบริการน้ำมัน จึงถือได้ว่าถังน้ำมันใต้ดินและป้ายโฆษณาใหญ่เป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมัน ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของสถานีบริการน้ำมันคือนายชาวัลย์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนแก่โจทก์ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งคืนทรัพย์สินดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังขึ้น ส่วนทรัพย์สินอย่างอื่น คือ ถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย 1 ถัง ฮ้อยท์ยกรถเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง 1 ชุด และปั๊มลม 1 อัน ตามสภาพของสถานีบริการน้ำมันถือไม่ได้ว่าเป็นสาระสำคัญของสถานีบริการน้ำมัน เพราะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของรถยนต์และเติมลมยางรถยนต์ ซึ่งบางสถานีบริการน้ำมันอาจไม่ได้ให้บริการในส่วนนี้และตู้จ่ายน้ำมันรวม 7 ตู้ แม้จะเป็นส่วนสาระสำคัญในการให้บริการจำหน่ายน้ำมัน แต่โดยลักษณะเป็นทรัพย์ที่มิได้ยึดติดแน่นกับพื้นดินหรือสถานีบริการน้ำมันเป็นการถาวร เป็นเพียงเครื่องจักรที่นำไปติดตั้งบริเวณสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้บริการเติมน้ำมันเครื่องแก่ผู้นำรถเข้าไปเติมน้ำมัน ซึ่งสามารถยกเคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องทุบทำลาย จึงไม่ถือเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมัน ไม่ตกเป็นของนายชาวัลย์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนแก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น…
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้โจทก์เข้าไปรื้อถอนขนย้ายเครื่องบริภัณฑ์ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สถานีบริการน้ำมันนั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจโจทก์เข้าไปดำเนินการบังคับคดีเองได้ คำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบตู้จ่ายน้ำมัน 7 ตู้ ถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย 1 ถัง ฮ้อยท์ยกรถเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง 1 ชุด และเครื่องปั๊มลม 1 อัน คืนโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งคืนตู้จ่ายน้ำมัน 7 ตู้ คืนโจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาตู้ละ 39,811 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2548 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวเสร็จสิ้น คำขอโจทก์นอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share