คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3406/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้บริษัท บ. กับพวกเป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับ อ. ซึ่งโจทก์อาศัยทำกินอยู่มิใช่จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นผู้ซื้อ แต่โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้บังอาจใช้ให้บุคคลอื่นนำรถยนต์บรรทุกดินขนาดใหญ่หลายคันนำดินเข้ามาเทถมลงไปในที่เลี้ยงปลาและกุ้งในที่ดินแปลงที่ติดกับที่ดินพิพาท ทำให้ปลาและกุ้งที่โจทก์เลี้ยงไว้ไม่เติบโตและตายในที่สุด มิได้กล่าวอ้างว่าผู้จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งโจทก์ก็ได้นำสืบว่ารถยนต์ที่บรรทุกดินมาถมที่ดังกล่าวติดป้ายชื่อห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ แม้โจทก์จะเลี้ยงปลาและกุ้งอยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากวันที่โจทก์ยอมรับว่าจะออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว และโจทก์ก็ได้รับเงินจาก อ. ผู้มีสิทธิในที่ดินเป็นค่าขนย้ายไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ อ. ที่จะว่ากล่าวกันต่อไป การที่จำเลยทั้งสองเอาดินไปถมบ่อปลาและกุ้งของโจทก์จนเป็นเหตุทำให้ปลาและกุ้งของโจทก์ตายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์เคยรับปากว่าจะออกไปจากที่พิพาทภายในวันที่ 31 สิงหาคม2527 และรับเงินค่าขนย้ายไปแล้ว แต่ไม่ยอมออกไป จึงถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดเหตุอันเป็นมูลละเมิดในคดีนี้อยู่ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เข้าไปอาศัยทำกินอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 27676 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการของนางอิง กัลยาณมิตร โดยลงทุนขุดดินกั้นเป็นคันคูกักน้ำทะเลใช้เป็นที่เลี้ยงปลาและกุ้ง และยังขุดดินกั้นคันคูน้ำทะเลใช้เป็นที่เลี้ยงปลาและกุ้งในที่ดินแปลงติดกับที่ดินโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ระหว่างวันที่ 27 ถึง 30 กันยายน 2527จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ใช้บุคคลอื่นนำรถยนต์บรรทุกดินมาเทถมลงไปในสถานที่เลี้ยงปลาและกุ้งแปลงที่ติดกับที่ดินของนางอิงเป็นเหตุให้ปลาและกุ้งที่โจทก์เลี้ยงไว้ไม่เติบโตและตายในที่สุดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27676 ตามฟ้องจากนางอิง กัลยาณมิตร เป็นเงิน6,259,500 บาท โดยวางมัดจำจำเลยในวันทำสัญญาเป็นเงิน 700,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 15 เดือน ต่อมาผู้จะขายได้ไปเจรจากับโจทก์ให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินที่โจทก์และบริวารได้เข้ามาอาศัยอยู่ โจทก์ตกลงจะออกไปภายในกำหนด 3 เดือน โดยไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2527 แต่ขอค่าขนย้ายเป็นเงิน 75,000 บาทหลังจากครบกำหนดเวลาที่โจทก์ตกลงว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปแล้ว ผู้จะขายสั่งให้จำเลยทั้งสองนำดินไปถมเชื่อมระหว่างถนนสุขุมวิทกับที่ดินที่ผู้จะขายทำสัญญาเช่าไว้กับกรมชลประทานเพื่อทำทางเข้าไปในที่ดินที่จำเลยจะซื้อ ที่ดังกล่าวไม่ใช่ที่สำหรับเลี้ยงกุ้งและปลา แต่เป็นลำกระโดงที่ตื้นเขิน ไม่มีน้ำขังไม่มีการขุดบ่อเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้งแต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้องโจทก์ ไม่มีสัญญาเช่าที่ดินกับกรมชลประทานจะเข้าไปจับจองทำกินในที่ดินดังกล่าวโดยพลการไม่ได้ คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเรื่องอำนาจฟ้องเป็นประการแรกว่า เมื่อบริษัทบางปูใหม่นครการเคหะและที่ดิน จำกัด กับพวกเป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27676 จากนางอิง กัลยาณมิตร มิใช่จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นผู้ซื้อ จะถือได้หรือไม่ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองผิดตัว ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้บังอาจใช้ให้บุคคลอื่นนำรถยนต์บรรทุกดินขนาดใหญ่หลายคันนำดินเข้ามาเทถมลงในที่เลี้ยงปลาและกุ้งในที่ดินแปลงที่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 27676 ทำให้ปลาและกุ้งที่โจทก์เลี้ยงไว้ไม่เติบโตและตายในที่สุดโดยมิได้บรรยายหรือกล่าวอ้างว่าผู้จะซื้อที่ดินของนางอิงทำละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด และทั้งในทางนำสืบโจทก์ก็ได้นำสืบว่ารถยนต์ที่บรรทุกดินมาถมที่ดังกล่าวติดป้ายชื่อห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้
ประเด็นวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อโจทก์ยอมรับว่า โจทก์ยอมออกจากที่พิพาทในวันที่ 31 สิงหาคม 2527 และโจทก์ได้รับเงินจากนางอิงเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารเป็นเงิน 75,000 บาท เพื่อออกไปจากที่ดินของนางอิงและที่ดินที่นางอิงเช่าจากกรมชลประทานแล้ว เท่ากับโจทก์ยอมสละสิทธิต่าง ๆที่มีอยู่ในที่พิพาทและที่ดินตามโฉนดทั้งหมดหลังจากวันที่ 31สิงหาคม 2527 เมื่อโจทก์ไม่ยอมออกจากที่ดินนางอิงไม่จำเป็นต้องฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่พิพาทและที่ดินมีโฉนดของนางอิงภายในกำหนดดังกล่าว โจทก์ย่อมหมดสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้นำรถขนดินมาถมในที่ดินที่นางอิงได้เช่าไว้จากกรมชลประทาน ก็เป็นการถมหลังจากโจทก์ไม่ยอมออกจากที่พิพาทภายในกำหนด จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้เลี้ยงปลาและกุ้งอยู่ในที่พิพาท แม้เป็นเวลาภายหลังจากวันที่โจทก์ยอมรับว่าจะออกไปและโจทก์ได้รับเงินจากนางอิงเป็นค่าขนย้ายไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนางอิงที่จะว่ากล่าวกันต่อไป การที่จำเลยทั้งสองเอาดินไปถมบ่อปลาและกุ้งของโจทก์จนเป็นเหตุทำให้ปลาและกุ้งของโจทก์ตายย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์อย่างชัดแจ้ง
ประเด็นสุดท้ายเรื่องค่าเสียหาย ฯลฯ ฟังได้ว่าโจทก์ได้ลงทุนซื้อพันธุ์ปลามาปล่อยเลี้ยงไว้จริง แต่สำหรับจำนวนค่าเสียหายนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เองเคยรับปากกับนางอิงผู้จะขายว่าจะออกไปจากที่พิพาทภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2527 และรับเงินค่าขนย้ายไปแล้วถึง 75,000 บาท แล้วไม่ยอมออกไปจึงถือได้ว่าโจทก์ก็มีส่วนก่อให้เกิดเหตุอันเป็นมูลละเมิดในคดีนี้อยู่ไม่น้อยจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดีต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share