คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมสรรพากรโจทก์รู้ถึงความตายของ อ. แล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ภาษีอากร พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของ อ. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของ อ. จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 694

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรต่างๆ ตามประมวลรัษฎากรและตามกฎหมายอื่น จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของนายอุดม ลูกหนี้ภาษีอากรค้างชำระต่อโจทก์ โดยนายอุดมประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินให้นายอุดม ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2539 เป็นเงินรวม 17,181.53 บาท และสำหรับเดือนภาษีกันยายน 2539 เป็นเงินรวม 236, 358.13 บาท เนื่องจากตรวจสอบพบว่า นายอุดมยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษีดังกล่าวไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้อง นายอุดมได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยชอบแล้วมิได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 นายอุดมยื่นคำร้องขอขยายเวลาหรือขอผ่อนชำระค่าภาษีอากรตามการประเมินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์รวม 24 งวด โดยมีจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของนายอุดมต่อโจทก์ นายอุดมได้ผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรค้างชำระบางส่วนแล้วผิดนัดไม่ชำระ คงค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับเดือนภาษีกันยายน 2539 เป็นเงิน 84,920 บาท ต่อมานายอุดมถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างชำระของนายอุดมซึ่งเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 115,748 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 115,748 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ค่าภาษีอากรของนายอุดมจริง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2545 นายอุดมถึงแก่ความตาย โจทก์รู้ว่านายอุดมถึงแก่ความตายตั้งแต่ปี 2545 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 จึงเกินกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้หรือควรจะรู้ว่านายอุดมถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 เจ้าพนักงานของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้นายอุดมชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคมและกันยายน 2539 เป็นเงิน 17,181.53 บาท และ 236,358.13 บาท ตามลำดับ นายอุดมมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน แต่ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาหรือขอผ่อนชำระภาษีอากร (ท.ป.2) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 382 โดยมีจำเลยเข้าทำสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากรดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 385 ถึง 388 นายอุดมได้ผ่อนชำระค่าภาษีอากรแล้วบางส่วนคงค้างชำระ 84,920 บาท ต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2545 นายอุดมถึงแก่ความตายตามสำเนาใบมรณบัตรเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 31 สรรพากรพื้นที่พัทลุงได้มีหนังสือลงวันที่ 10 ตุลาคม 2546 ทวงถามจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวแล้วตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 188 และ 189 แต่จำเลยเพิกเฉย
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า สรรพากรพื้นที่พัทลุงและสำนักงานสรรพากรภาค 12 ไม่ใช่ผู้แทนโจทก์ โจทก์เพิ่งทราบเหตุแห่งการตายของนายอุดม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ตามบันทึกข้อความที่ กค 0732/8654 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2548 เอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 1 และ 2 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยนำสืบว่าหลังจากนายอุดมถึงแก่ความตายแล้ว ประมาณกลางปี 2545 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องทายาทของนายอุดมต่อศาลจังหวัดพัทลุงเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1215/2545 ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของนายอุดมในคดีดังกล่าวด้วย ทั้งนางกิ้มทายาทของนายอุดมก็ได้ไปให้การและส่งมอบหลักฐานใบมรณบัตรของนายอุดมต่อเจ้าพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จึงถือว่าโจทก์ทราบการตายของนายอุดมตั้งแต่ปี 2545 เห็นว่า ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1215/2545 ของศาลจังหวัดพัทลุง ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ นางกิ้ม กับพวก จำเลย ได้ความว่าสรรพากรพื้นที่พัทลุงมีบันทึกข้อความลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ถึงสรรพากรภาค 12 สรุปความว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องทายาทโดยธรรมของนายอุดม เพื่อบังคับจำนองเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2545 และจะมีการบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของนายอุดมซึ่งติดจำนองธนาคารดังกล่าว แต่เนื่องจากนายอุดมเสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2545 ฉะนั้นเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างจึงเห็นควรยื่นคำร้องเฉลี่ยทรัพย์ และขอให้สรรพากรภาค 12 จัดส่งใบแต่งทนายความให้สรรพากรพื้นที่พัทลุงเพื่อดำเนินการต่อไป รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 178 และ 180 ต่อมาสรรพากรภาค 12 มีบันทึกลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 177 แจ้งให้สรรพากรพื้นที่พัทลุงดำเนินการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พร้อมกับส่งใบแต่งทนายความซึ่งลงนามโดยนายโยธิน สรรพากรภาค 12 จำนวน 4 ฉบับ ไปด้วย จากเอกสารที่โจทก์ส่งต่อศาลในคดีนี้ปรากฏว่ามีใบแต่งทนายความ 1 ฉบับ ระบุว่า ผู้ลงนามเป็นผู้แต่งทนายความคือนายโยธิน สรรพากรภาค 12 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 162 กรณีจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า ผู้ที่ดำเนินการแทนโจทก์ในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1215/2545 ของศาลจังหวัดพัทลุง ก็คือนายโยธิน สรรพากรภาค 12 ซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีของโจทก์ เมื่อเป็นดังนี้ย่อมต้องถือว่าโจทก์ทราบการตายของนายอุดมแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีดังกล่าว แม้ทางพิจารณาจะไม่ปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อใด แต่ปรากฏจากหนังสือแจ้งผลคดีของอัยการจังหวัดพัทลุง ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 142 และ 143 ว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 ศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ได้ กรณีจึงถือได้ว่าอย่างช้าที่สุดในวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 โจทก์รู้ถึงความตายของนายอุดมแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของนายอุดม สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของนายอุดมจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน จำเลยไม่ได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

Share