คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
ฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน” เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 950,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 87,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอหมายบังคับคดี ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1218 และ 1219 พร้อมสิ่งปลูกสร้างราคาประเมิน 1,840,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดนั้น ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2540 โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2526 ผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1218 และ 1219 พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับผู้ขายเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2536 ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2536 จึงมีการจดทะเบียนซื้อขายโดยระบุชื่อผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง วันที่ 14 มกราคม 2540 ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน ครั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1218 และ 1219 พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียวหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและเป็นผู้ผ่อนชำระราคาที่ดินและบ้านพิพาททั้งหมด ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องแต่ผู้เดียวนั้น เห็นว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ที่ผู้ร้องฎีกาต่อมาว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 บัญญัติว่า “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน” เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกันหาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่ผู้เดียวไม่ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share