แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องต้องกัน และไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน คำเบิกความของพยานโจทก์จึงน่าเชื่อถือ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกมาด้วยกันและหลบหนีไปด้วยกัน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่มีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย และไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำผิดก็ตาม แต่พวกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์และจำเลยที่ 3 นั่งเป็นคนแรกพาคนร้ายมาและพากันหลบหนีไป โดยใช้ถุงพลาสติกครอบปิดป้ายทะเบียนรถไว้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและรับว่าไปในที่เกิดเหตุและหลบหนีไปด้วยกันอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ จึงสมควรลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 และให้มีผลถึงความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน 2 กระบอกของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนคือเงิน 1,070 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสามมีอายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปจำคุกคนละ 12 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกคนละ 8 เดือน ส่วนความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงแรกคงจำคุก 8 ปี กระทงที่สองคงจำคุก 4 เดือน 40 วัน กระทงที่สาม คงจำคุก 2 เดือน 20 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี 6 เดือน 60 วัน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 12 ปี 12 เดือน ริบอาวุธปืนของกลาง 2 กระบอก และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินสด 1,070 บาท หรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ขณะพยานทำหน้าที่เป็นพนักงานเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันเกิดเหตุมีรถจักรยานยนต์คันแรกแล่นเข้ามาจอดที่ตู้จ่ายน้ำมัน จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งรถจักรยานยนต์บอกว่าขอเติมน้ำมัน ขณะพยานเดินไปจะเติมน้ำมัน จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์มาจอดต่อท้ายรถจักรยานยนต์คันแรก โดยจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนกลาง มีจำเลยที่ 3 นั่งเป็นคนแรก ส่วนนายมนตรีนั่งซ้อนท้ายสุดได้ยืนคร่อมเบาะรถแล้วชักอาวุธปืนสั้นจ้องเล็งลำตัวของพยานในระยะห่างประมาณ 1 เมตร และบอกให้ส่งกระเป๋าใส่เงิน มิฉะนั้นจะยิง พยานกลัวจึงถอดกระเป๋าใส่เงินแบบสะพายออกจากศีรษะ แล้วเด็กชายณัฐพลซึ่งนั่งซ้อนท้ายสุดของรถจักรยานยนต์คันแรกได้คว้าเอากระเป๋าใส่เงินแล้วพากันหลบหนีไป นางสาวฤทัยรัตน์หรือฤทัย พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ขณะพยานกำลังเดินออกจากร้านจิ๊ฟฟี่ชอปซึ่งอยู่ห่างจากตู้จ่ายน้ำมันประมาณ 15 เมตร เห็นผู้เสียหายยกมือขึ้นสองข้าง มีคนร้าย 6 คน และรถจักรยานยนต์ 2 คัน จอดอยู่ใกล้ ๆ ผู้เสียหาย ผู้เสียหายถอดกระเป๋าสะพายออกทางศีรษะยื่นให้คนร้าย แล้วคนร้ายทั้งหกนั่งรถจักรยานยนต์ 2 คัน ดังกล่าวหลบหนีไป พยานมองป้ายทะเบียนเห็นถุงพลาสติกปิดป้ายทะเบียนไว้ นอกจากนี้พันตำรวจโทดิเรก พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 นายมนตรีและเด็กชายณัฐพลให้การว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายสิทธิพงษ์ ปล้นทรัพย์ที่สถานีบริการน้ำมันเจ็ท พยานได้ขออนุมัติหมายจับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายสิทธิพงษ์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ พยานได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน และใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าในคืนเกิดเหตุร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 กับพวกจริงตามบันทึกคำให้การ พยานได้จัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวคนร้าย ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ถูกต้อง และลงชื่อในบันทึกการชี้ตัวไว้ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความได้สอดคล้องต้องกัน และไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ต้องรับโทษ คำเบิกความจึงน่าเชื่อถือ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกมาด้วยกันและหลบหนีไปด้วยกัน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่มีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย และไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำผิดก็ตาม แต่พวกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์และจำเลยที่ 3 นั่งเป็นคนแรกพาคนร้ายมาและพากันหลบหนีไป โดยใช้ถุงพลาสติกครอบปิดป้ายทะเบียนรถไว้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาขอให้ลดโทษและลงโทษสถานเบา นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ประกอบกับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกไปที่เกิดเหตุด้วยกัน และหลบหนีไปด้วยกันอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และให้มีผลถึงความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป จำคุกคนละ 8 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนจำคุกคนละ 4 เดือน 40 วัน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนจำคุกคนละ 2 เดือน 20 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 8 ปี 6 เดือน 60 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1