คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8426/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้เสียหายที่ 1 ไม่กระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ร่วมที่ยังคงมีอยู่ 1 หุ้น เช่นเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวหากกระทำไปโดยไม่ชอบ เป็นความเท็จ และมีการนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จนั้นไปแสดงต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัทย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของผู้เสียหายที่ 1 ไม่มากก็น้อย เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัทผู้เสียหายที่ 1 ย่อมได้รับผลกระทบด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในการกระทำดังกล่าว และมีสิทธิที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 267, 352, 353 กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนทรัพย์ที่ร่วมกันยักยอกหรือใช้ราคาเป็นเงิน 33,622,000 บาท แก่ผู้ถือหุ้นของผู้เสียหายที่ 1 ตามส่วนแห่งจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละราย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายมนัส ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 81,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78) คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 54,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 และคำขออื่นให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานยักยอกทรัพย์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายที่1 แต่เพียงผู้เดียวตามคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดและหนังสือรับรอง จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไปยังนายทะเบียน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1139 วรรคสอง ปรากฏว่าสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โดยมีการโอนหุ้นจากผู้เสียหายที่ 3 มาเป็นของจำเลยที่ 1 จากเดิมผู้เสียหายที่ 3 ถือหุ้น 24,997 หุ้น กลับเป็นว่าผู้เสียหายที่ 3 ถือหุ้นเพียง 1 หุ้น ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หลังจากนั้นได้มีการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยตามเอกสารระบุว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจเป็นผู้รับรองว่ารายการตามที่ปรากฏถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นพยานหลักฐานดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบกันแล้ว แม้ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อและนำส่งงบดุล งบกำไรขาดทุน และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น คดีก็รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และ มูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ และโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดเหมาะสมเพียงใด สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน จำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วย โจทก์ร่วมจึงไม่อาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ส่วนโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดเหมาะสมเพียงใด เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการมุ่งที่จะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของผู้อื่น แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนก็ไม่สมควรรอการลงโทษให้ ที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้จึงไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี และเมื่อลงโทษจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษแล้วก็ไม่สมควรลงโทษปรับอีกจึงให้ยกโทษปรับเสีย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 หรือไม่ และจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเสียก่อน คดีนี้ปรากฏว่าทรัพย์สินคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารชุดมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้เสียหายที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน กรณีต้องถือว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของตนเอง โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน ส่วนจำเลยที่ 4 ก็เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์ตามสัญญาซื้อขายจากผู้เสียหายที่ 1 ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ขึ้นมาได้ ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 นั้น แม้จะได้ความว่าในขณะทำสัญญาซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพร้อมอาคารชุดมีราคาประเมิน 42,094,860 บาท แต่ราคาประเมินดังกล่าวก็ไม่ใช่เป็นข้อบ่งชี้ว่าจะขายทรัพย์สินได้ในราคานั้นเสมอไป เพราะผู้ซื้ออาจจะซื้อในราคาตํ่ากว่าราคาประเมินก็ได้ ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมอาคารชุดให้แก่จำเลยที่ 4 และได้รับชำระหนี้ในนามของผู้เสียหายที่ 1 ภายในกำหนดเวลาตามเงื่อนไข แม้ราคาที่ขายจะต่ำกว่าราคาประเมินก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่โดยมีเจตนาทุจริต กรณีมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามคำขอส่วนแพ่งอีก อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างได้แม้จะมิได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำนวนหุ้นของโจทก์ร่วมไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงมีหุ้นอยู่ 1 หุ้น เช่นเดิม โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ จึงไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดนี้เป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้เสียหายที่ 1 ในครั้งนี้ ไม่กระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ร่วมที่ยังคงมีอยู่ 1 หุ้น เช่นเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวหากกระทำไปโดยไม่ชอบ เป็นความเท็จ และมีการนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จนั้นไปแสดงต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัทย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของผู้เสียหายที่ 1 ไม่มากก็น้อย เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัทผู้เสียหายที่ 1 ย่อมได้รับผลกระทบด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในการกระทำดังกล่าว และมีสิทธิที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดนี้ได้ คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 เห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share