คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3750/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 46 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาของศาลคดีส่วนอาญาที่ฟังว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส มีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่
การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกผักและผลไม้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แวะรับประทานอาหารและดื่มสุราจนถูกทำร้ายร่างกาย ด้วยความโกรธแค้นเพราะเหตุส่วนตัวที่ถูกทำร้ายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขับรถบรรทุกพุ่งชนโจทก์ที่ 5 และผู้ตายกับพวกที่ทำร้ายตนจนเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บเช่นนี้ เป็นเหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับกิจการในทางการที่จ้างหรือกรอบแห่งการจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นายจ้างที่มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างไปกระทำ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งห้า ส่วนจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 3 ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 4 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 887 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ ๔ ตามคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยใช้ความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ ๑ ขับเสียการทรงตัวพุ่งชนรถจักรยานยนต์ ๒ คัน ซึ่งมุ่งหน้าไปทิศทางเดียวกับจำเลยที่ ๑ รถจักรยานยนต์คันแรกมีนายทรงยศ แซ่กิม เป็นผู้ขับ นายคนัง นิรภัย บุตรชายของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ นั่งซ้อนท้าย ส่วนรถจักรยานยนต์คันที่สองมีนายนุสรณ์ ศรีพรทุม เป็นผู้ขับ โจทก์ที่ ๕ นั่งซ้อนท้ายคนที่ ๑ นายสุรเทพ นครไชย บุตรชายของโจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ นั่งซ้อนท้ายคนที่ ๒ เป็นเหตุให้นายคนัง นายสุรเทพและนายนุสรณ์ถึงแก่ความตาย ส่วนโจทก์ที่ ๕ ได้รับอันตรายสาหัส และเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ได้รับความเสียหายจำนวน ๒๕๕,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ ได้รับความเสียหายจำนวน ๒๔๕,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๕ ได้รับความเสียหายจำนวน ๑๓๓,๕๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๒๕๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๒๔๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ และชำระเงินจำนวน ๑๓๓,๕๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๕ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ กับโจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถบรรทุก จำเลยที่ ๑ มิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่เคยใช้จ้างวานให้จำเลยที่ ๑ ขับรถไปทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้า เหตุคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าเนื่องจากจำเลยที่ ๑ มีสาเหตุโกรธแค้นกับบุตรของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ บุตรของโจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ และโจทก์ที่ ๕ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งห้าเรียกมานั้น ค่ารักษาพยาบาลนายคนังก่อนถึงแก่ความตายไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดงานศพนายคนังไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เกินเดือนละ ๕๐๐ บาท เป็นเวลา ๗ ปี ไม่เกิน ๔๒,๐๐๐ บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดงานศพนายสุรเทพไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ในส่วนของโจทก์ที่ ๕ ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายเนื่องจากมีรอยแผลเป็นทำให้ใบหน้าเสียโฉมไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท และค่าขาดประโยชน์ไม่เกิน ๑,๘๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ กับโจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างและปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ ๔ รับผิดต่อชีวิตร่างกายของบุคคลภายนอกคนละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท โดยรับผิดไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ของการเกิดเหตุแต่ละครั้ง และรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น เหตุคดีนี้เป็นการกระทำโดยเจตนาผิดวัตถุประสงค์ของสัญญาประกันภัย โดยเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของนายคนัง นายสุรเทพและโจทก์ที่ ๕ เองที่สมัครใจเข้าร่วมทะเลาะวิวาทและพยายามทำร้ายร่างกายจำเลยที่ ๑ จึงแกล้งขับรถจักรยานยนต์ปาดตัดหน้ารถบรรทุก เพื่อให้เสียหลักหรือหยุดรถ โดยหวังผลในการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายผู้อื่น จำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ฟ้องโจทก์ทั้งห้าเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๒๗,๒๔๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๑๑๙,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ และชำระเงินจำนวน ๔๑,๔๗๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๕ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละรายการนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดในหนี้ต้นเงินแต่ละรายการไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ปัญหาประการแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้ามีว่า การที่จำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุกชนรถจักรยานยนต์ ๒ คัน ตามฟ้องจนเป็นเหตุให้นายคนัง นิรภัย นายสุรเทพ นครไชยและนายนุสรณ์ ศรีพรทุม ถึงแก่ความตาย กับโจทก์ที่ ๕ ได้รับอันตรายสาหัสนั้น เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๔๓๙/๒๕๓๘ ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ แม้ว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าวที่ฟังว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส มีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่ ดังนั้น จากพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีดังที่วินิจฉัยมามีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งห้า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์ ๒ คัน ที่โจทก์ที่ ๕ และผู้ตายนั่งมาเกิดจากการกระทำโดยเจตนาฆ่ามิใช่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด
ปัญหาประการที่สองที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจกท์ทั้งห้ามีว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีหน้าที่ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกผักและผลไม้จากจังหวัดนครราชสีมาไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในตลาดอำเภอลำปลายมาศตามทางการที่จ้าง แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุกออกจากบ้านจำเลยที่ ๒ เพื่อไปบรรทุกผักและผลไม้ตามทางการที่จ้างแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้แวะรับประทานอาหารและดื่มสุราจนถูกทำร้ายร่างกาย จากนั้นด้วยความโกรธแค้นเพราะเหตุส่วนตัวที่ถูกทำร้ายดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงขับรถบรรทุกพุ่งชนโจทก์ที่ ๕ และผู้ตายกับพวกที่ทำร้ายตน จนเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บเช่นนี้ เป็นเหตุการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นต่างหากไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการในทางการที่จ้างหรือกรอบแห่งการจ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นายจ้างที่มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างไปกระทำ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งห้าดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ ๔ ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ ๓ ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งจำเลยที่ ๔ ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ ๓ ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ ๓ ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๗ วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ ๓ ผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุกับจำเลยที่ ๔ ไว้ดังกล่าวไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๑ ที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ ๔ ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

นายพศวัจณ์ กนกนาก ผู้ช่วยฯ
ร.ท.นิตินาถ บุญมา ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายวีระวัฒน์ ปวราจารย์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share